การตรวจตาในเด็กเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย เพราะเด็กมักไม่รู้ว่าตนเองมีความผิดปกติ บางครั้งกว่าจะรู้อาจสายเกินไป ดังนั้นการตรวจตาในเด็กตามช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยดูแลการมองเห็นและสุขภาพดวงตาของเด็กได้อย่างถูกวิธี
ตรวจตาเด็กตามวัย
การตรวจตาในเด็กแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักเพื่อประเมินและวินิจฉัยโรคทางตาในเด็ก ได้แก่
1) ช่วงวัยทารก – วัยหัดเดิน อายุ 0 – 2 ปี (Infant and Toddler)
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดควรได้รับการตรวจตาเพื่อประเมินจอประสาทตา ตั้งแต่หลังคลอด 4 – 6 สัปดาห์ โดยกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดจะประสานกับกุมารจักษุแพทย์เพื่อตรวจจอประสาทตา และควรตรวจซ้ำเมื่ออายุครบ 3 เดือน เพื่อประเมินพฤติกรรมการมองเห็นและจอประสาทตา เมื่อครบอายุ 1 ปีจะมีการตรวจประเมินการมองเห็นของเด็กร่วมกับการตรวจวัดค่าสายตาและตรวจภาวะตาเขด้วย
กรณีทารกคลอดครบกำหนดมักมีอาการหลายชนิดที่สามารถสังเกตและควรส่งตรวจตาโดยเร็วที่สุดได้แก่
- อายุครบ 3 เดือนแล้ว ไม่จ้องหน้าผู้ปกครอง
- ผู้ปกครองสังเกตเห็นตาเขเข้าในและออกนอกก่อนอายุ 6 เดือน
- มีน้ำตาและขี้ตาเอ่อตลอดเวลา ซึ่งอาจสงสัยภาวะท่อน้ำตาอุดตันหรือภาวะโรคต้อหินตั้งแต่กำเนิด
- มีหนังตาตกข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้
- เด็กที่มีภาวะตาสั่น (Nystagmus)
- เด็กที่มีตาดำขนาดใหญ่กว่าปกติและมีน้ำตาไหลแพ้แสงร่วมด้วย เป็นลักษณะสำคัญของโรคต้อหินตั้งแต่กำเนิด
นอกจากนี้กุมารแพทย์มักส่งตรวจตาในเด็กที่มีพัฒนาการช้าหรือ Down’s Syndrome เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสพบโรคต้อกระจกและสายตาผิดปกติได้ อีกทั้งเด็กที่มีภาวะผิดปกติที่ต่อม Pituitary มีผลสัมพันธ์กับขั้วประสาทตาผิดปกติ
2) วัยก่อนเข้าเรียน อายุ 2 – 5 ปี (Preschool Age)
ในวัยนี้เด็กเริ่มใช้สายตามากขึ้นจึงสามารถตรวจการมองเห็นได้ดีและถูกต้องมากขึ้นรวมทั้งยังพบว่าตาเขบางชนิดสามารถพบได้บ่อยในช่วงอายุนี้
อาการที่สังเกตได้ว่าเด็กน่าจะมีความผิดปกติ ได้แก่
- เด็กมีอาการเอียงหน้าเวลามองดู
- เด็กกะพริบตาบ่อย ๆ
- ในครอบครัวเด็กมีประวัติสายตาผิดปกติหรือตาเข
- เด็กมีปัญหาด้านการเรียน (Learning Disability)
3) วัยเรียน อายุ 5 ปีขึ้นไป (School Age)
วัยเรียนเป็นวัยที่เด็กใช้สายตามากที่สุดร่วมกับปัจจุบันพบว่าเด็กใช้สายตากับหน้าจอเป็นเวลานานทำให้มีผลต่อสายตาการตรวจตาจึงเป็นการวินิจฉัยเรื่องภาวะสายตาผิดปกติและโรคตาขี้เกียจได้
การตรวจตาแต่ละครั้งกุมารจักษุแพทย์จะทำการประเมินใน 10 หัวข้อ ได้แก่
- การมองเห็นหรือพฤติกรรมการมองเห็น (Visual Behavior)
- ประเมินระดับการมองเห็น (Visual Acuity) มีหลายเทคนิคในการประเมินเด็ก เพื่อเป็นการประเมินภาวะตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye)
- ประเมินการมองเห็นภาพสามมิติ (Stereopsis) เพื่อดูพัฒนาการในการมองเห็นของเด็ก
- ประเมินตาบอดสี (Color Blindness) ตาบอดสีเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่พบมากในเด็กผู้ชายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของครอบครัวในการวางแผนการศึกษาของเด็ก
- ประเมินการเคลื่อนไหวของตา (Eye Movement) เพื่อตรวจค้นหาภาวะตาเข (Squint)
- ตรวจส่วนด้านหน้าของลูกตา (Anterior Segment) ได้แก่ เยื่อบุตา, กระจกตา, ม่านตา และเลนส์ตา โดยเครื่องมือพิเศษ
- ตรวจประเมินค่าสายตา (Refractive Error) เพื่อพิจารณาว่าเด็กต้องการแว่นสายตาหรือไม่ และอาจมีการตรวจละเอียดในกรณีที่สงสัยภาวะค่าสายตาผิดปกติโดยการหยอดยาขยายม่านตา (ใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง และเด็กจะตามัวประมาณ 24 ชั่วโมง อาการตามัวจะหายเป็นปกติในวันรุ่งขึ้นหลังการตรวจ)
- ตรวจวัดความดันลูกตาเพื่อประเมินภาวะต้อหินในเด็ก
- ตรวจประเมินลานสายตา (Visual Field) ในกรณีเด็กที่มีภาวะต้อหินและภาวะทางสมองจะมีค่าลานสายตาที่ผิดปกติ
- ถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photo) เพื่อเป็นการตรวจจอประสาทตาและขั้วประสาทตาในการสังเกตการณ์ในแต่ละปีว่ามีความผิดปกติหรือไม่
ความผิดปกติของดวงตาในเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ย่อมช่วยลดความรุนแรง และปัญหาการมองเห็นในระยะยาว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจพาเด็กเล็กไปตรวจตาเป็นประจำทุกปีและปฏิบัติตามคำแนะนำของกุมารจักษุแพทย์