ท้องผูกอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

5 นาทีในการอ่าน
ท้องผูกอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

หลาย ๆ คนคงจะมีปัญหาท้องผูกมาเป็นเวลานานและมักจะหลงคิดไปว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วการปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ทั้งทางร่างกาย เช่น การเป็นแผล การเกิดริดสีดวง หรือมีความเจ็บปวดขณะขับถ่าย รวมไปถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสร้างความทุกข์ทรมานในชีวิตได้ ดังนั้นการเอาใจใส่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายและรู้เท่าทันอาการท้องผูกย่อมช่วยให้เรารับมือได้อย่างถูกวิธี

ท้องผูกคืออะไร

โดยส่วนใหญ่เรามักเข้าใจว่าท้องผูก (Constipation) คือ การที่ไม่มีการขับถ่ายหรือมีความถี่ในการขับถ่ายลดลงกว่าปกติ การมีอุจจาระที่แข็งและยากต่อการขับถ่าย ซึ่งจริง ๆ แล้วถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ภาวะท้องผูกในทางการแพทย์ยังรวมไปถึงการมีอาการใดอาการหนึ่ง ดังนี้

  • การมีอุจจาระแข็ง
  • ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ
  • ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย
  • มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่ายหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • หลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมดหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด

ซึ่งส่วนมากแล้วภาวะท้องผูกมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและเป็นได้ในทุกช่วงอายุโดยส่วนใหญ่พบในวัยทำงาน


ท้องผูกมีกี่ประเภท

อาการท้องผูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ โดยจำแนกจากสาเหตุการเกิดภาวะท้องผูก ได้แก่ 

  1. ท้องผูกที่มีปัจจัยส่งเสริมนอกจากการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Secondary Constipation) ได้แก่
    • การอุดกั้นของทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อหรือมะเร็งมากด หรือรวมไปถึงการตีบแคบของลำไส้จากพังผืดหรือการผ่าตัด
    • ภาวะการตั้งครรภ์
    • โรคทางระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
    • ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย  เช่น ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะแคลเซียมสูง
    • ยาบางประเภท เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาความดันโลหิตบางกลุ่ม ยารักษาอาการทางจิตเวช ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาแก้ท้องเสีย รวมไปถึงยาลดการเกร็งของทางเดินอาหาร ยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะ รวมไปถึงยาบำรุงที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ
    • รคทางระบบประสาท เช่น ภาวะการบาดเจ็บของกระดูกและไขสันหลัง พาร์กินสัน เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ผู้ป่วยนอนติดเตียง
  2. ท้องผูกที่มีความผิดปกติของการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Primary Constipation) ซึ่งจะแบ่งตามลักษณะของการทำงานที่ผิดปกติ ได้แก่
    • ท้องผูกชนิดที่มีการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ปกติ หรืออาจจะเรียกกลุ่มนี้ว่า ลำไส้แปรปรวนได้ ซึ่งจะพบได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของท้องผูกในกลุ่มนี้ และอาจจะพบว่ามีการรับรู้ความรู้สึกไวของลำไส้ตรงได้ในกลุ่มนี้
    • ท้องผูกชนิดที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่าย พบประมาณ 1/3 ของท้องผูกในกลุ่มนี้ ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามช่องท้องที่ใช้ช่วยในการเบ่งมีแรงไม่เพียงพอ การที่กล้ามเนื้อหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยมีการเกร็งตัวหรือไม่คลายตัวดีพอขณะทำการเบ่งถ่าย
    • ท้องผูกชนิดที่ลำไส้มีภาวะเคลื่อนไหวตัวช้ากว่าปกติ พบได้น้อยที่สุดในกลุ่มนี้

ท้องผูก, ท้องผูก คือ, ท้องผูก แก้, ท้องผูก อาการ, ท้องผูก เกิดจาก

ตรวจวินิจฉัยท้องผูกได้อย่างไร

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจทางทวารหนัก (Rectal Examination) โดยใช้นิ้วมือ ถ้าได้รับการตรวจกับแพทย์ที่มีความชำนาญจะได้ข้อมูลของการตรวจที่รวมถึงลักษณะโดยรอบ การตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติรอบ ๆ ทวารหนัก การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบางส่วน โดยจะให้ผู้ป่วยออกแรงเบ่งและขมิบทวารหนักประกอบด้วย เพื่อประเมินกำลังของกล้ามเนื้อ
  • การตรวจเพิ่มเติมตามการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทางเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการท้องผูก มีหลายวิธีประกอบกัน ได้แก่
  • ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้ โดยจะให้ยาระงับประสาทอ่อน ๆ ก่อนการตรวจ จากนั้นจะใช้กล้องส่องตรวจสอดผ่านทางทวารหนัก
  • ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อในการขับถ่ายและการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรง (Anorectal Manometry Test) ได้แก่ ตรวจดูการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรงเวลาอุจจาระลงมาว่าปกติหรือรู้สึกช้ากว่าปกติหรือไม่ รวมถึงการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้การขับถ่าย ได้แก่ กล้ามเนื้อช่องท้อง กล้ามเนื้อเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเนื่องจากการทำงานไม่สัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำให้เกิดท้องผูกได้
  • การตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยการกลืนแคปซูลเฉพาะแบบที่ใช้วัดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร โดยมีแบบอาศัยการฉาย X-Ray ติดตามการเคลื่อนไหวตามกำหนดวันนัดหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ไร้สายที่จะมีเครื่องรับสัญญาณให้ผู้ป่วยไว้

รักษาท้องผูกได้อย่างไร

เมื่อได้รับผลการตรวจวินิจฉัยแน่ชัดว่ามีอาการท้องผูก แพทย์เฉพาะทางจะทำการรักษาตามสาเหตุที่เป็น มีหลายวิธี ได้แก่

  • การปรับพฤติกรรม ได้แก่ ขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกครั้งแรก อย่ารอจนสัญญาณการขับถ่ายอ่อนลง นั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใย ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอ
  • การรักษาโดยการใช้ยาระบาย ซึ่งมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ยาระบายในกลุ่มกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว (Stimulant Laxatives) ยาระบายกลุ่มที่ออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำเพื่อให้อุจจาระมีปริมาณน้ำมากขึ้น (Osmotic Laxatives) ไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ยาเหน็บหรือยาสวนทวาร รวมไปถึงยากลุ่มใหม่ ๆ ในปัจจุบัน เช่น ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ (Prokinetic Agent) หรือยากลุ่มที่กระตุ้นให้มีการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่บางตัวเข้าไปในลำไส้ (Secretagouge) ทั้งนี้ควรขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง
  • การฝึกการขับถ่าย (Biofeedback Training) สอนให้ผู้ป่วยขับถ่ายอย่างถูกวิธีด้วยเครื่องมือที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ซึ่งสามารถแสดงผลกล้ามเนื้อเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักทั้งหมดของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการขับถ่ายที่ถูกต้อง ทั้งท่าทาง การหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหูรูด และการรับรู้ความรู้สึก โดยจะทำการฝึกทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 – 40 นาที วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลในระยะยาว เมื่อทำอย่างต่อเนื่องจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยา
  • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยท้องผูกจากภาวะที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้าที่รักษาโดยการรับประทานยาแล้วไม่ได้ผลและมีความผิดปกติชัดเจนของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของลำไส้ที่ได้รับการตรวจยืนยันชัดเจนแล้ว โดยวิธีนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการเท่านั้น

ปัญหาท้องผูกไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจเพราะหากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างริดสีดวงทวารเกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรงภาวะอุจจาระอัดแน่นรวมไปถึงอาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆตามมาซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกายในระยะยาวดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการท้องผูกติดต่อกันควรเข้ามาตรวจเช็กและเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว


แพทย์ที่ชำนาญการฝึกการขับถ่าย

นพ.สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ 


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการฝึกการขับถ่าย

หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลปัญหาท้องผูกเรื้อรังด้วยการฝึกการขับถ่าย (Anorectal Biofeedback Training) โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญพยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ

ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.

พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด