โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) คือ โรคปอดชนิดเรื้อรังที่ผู้ป่วยจะมีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพองและ/หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรังเกิดร่วมกัน
สาเหตุหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
สาเหตุที่พบบ่อย คือ
- การสูบบุหรี่
- มลพิษทางอากาศ
- พันธุกรรม
- ฯลฯ
อาการหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
อาการโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังที่พบบ่อย
-
เหนื่อย
-
ไอ
-
มีเสมหะ
ปัจจัยเสี่ยงหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในทั่วโลก คือ การสูบบุหรี่ ประมาณ 20% ของผู้ที่สูบบุหรี่จะเป็น COPD และจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นเวลานานเกือบชั่วชีวิตจะเป็น COPD ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร 80 – 95% ของผู้ที่เป็น COPD นั้นเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันหรือเคยสูบบุหรี่แนวโน้มในการพัฒนาโรคของ COPD เพิ่มขึ้นจากการได้รับสัมผัสจากการสูบบุหรี่ทั้งหมด นอกจากนี้แล้วเพศหญิงยังมีความไวต่อผลกระทบที่เป็นอันตรายของการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศชายในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคประมาณ 20% การสูบประเภทอื่น ๆ อาทิเช่น การสูบกัญชา ซิการ์ และไปป์น้ำ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน หญิงที่สูบบุหรี่ในระหว่างการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของ
COPD ในเด็กได้
วินิจฉัยหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) นั้นควรพิจารณาดำเนินการในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 – 40 ปีขึ้นไปที่มีอาการเหนื่อย การไอเรื้อรัง มีเสมหะ หรือเป็นไข้หวัดบ่อยในฤดูหนาว และมีประวัติของการได้รับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรค จากนั้นจึงใช้การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
ตรวจสมรรถภาพปอด
การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการวัดปริมาณการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจในปัจจุบันและโดยทั่วไปเป็นการดำเนินการหลังจากการใช้ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจ องค์ประกอบหลักที่จะมีการตรวจวัดเพื่อการวินิจฉัยโรค คือ- ปริมาตรการหายใจออกที่ทำอย่างเต็มกำลังใน 1 วินาที (FEV1) ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดของอากาศที่สามารถหายใจออกมาได้ในวินาทีแรกของการหายใจออก
- ปริมาตรอากาศที่วัดได้เมื่อหายใจเต็มกำลัง (FVC) ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดของอากาศที่สามารถหายใจออกมาได้ในการหายใจอย่างเต็มที่ 1 ครั้ง
โดยทั่วไป 75 – 80% ของค่า FVC จะได้จากวินาทีแรกและค่า FEV1/อัตรา FVC ที่ต่ำกว่า 70% ในผู้ที่มีอาการแสดงของ COPD ได้รับการนิยามว่า คือผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวตามพื้นฐานของการตรวจวัดเหล่านี้ การวัดปริมาตรอากาศหายใจอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการวินิจฉัย COPD ในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้เกณฑ์ของสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์ได้กำหนดให้ค่า FEV1 ต้องต่ำกว่า 80% ของค่าคาดคะเน
การประเมินความรุนแรงของโรค
การประเมินระดับความรุนแรงของโรค โดยใช้คะแนนระดับ GOLD ตามตาราง ดังนี้
ความรุนแรง |
FEV1% ที่คาดคะเน |
เล็กน้อย (GOLD 1) |
≥80 |
ปานกลาง (GOLD 2) |
50 – 79 |
รุนแรง (GOLD 3) |
30 – 49 |
รุนแรงมาก (GOLD 4) |
<30 หรือความล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ |
รักษาหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ไม่มีการรักษาที่แน่ชัด แต่อาการของโรคสามารถรักษาและชะลอความรุนแรงของโรคได้ โดยเป้าหมายหลักของการจัดการโรคคือ การลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การหยุดสูบบุหรี่ แต่บางสาเหตุก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
- การให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งในรูปแบบกินและพ่น
- การให้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์
- การให้ออกซิเจน
- การทำกายภาพบำบัด
- การผ่าตัดบริเวณของปอดที่มีการโป่งพองมาก
มาตรการที่แสดงถึงการลดการเสียชีวิต คือ การหยุดสูบบุหรี่และการใช้ออกซิเจนเสริมเท่านั้น การหยุดสูบบุหรี่นั้นเป็นการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้ 18%
ป้องกันหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) สามารถป้องกันได้โดย- งดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมแก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ช่วยลดการกำเริบของโรค การต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้
- ลดปริมาณการสูบบุหรี่
- ลดการสัมผัสจากสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงคุณภาพของอากาศทั้งภายในและภายนอก
หยุดสูบบุหรี่ตั้งแต่วินาทีนี้
- การป้องกันไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่เป็นหลักสำคัญของการป้องกันโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมถึงการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและสถานที่ทำงาน การลดการสัมผัสของบุหรี่จากการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
- ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่เป็นมาตรการเดียวเท่านั้นที่ชะลอการทรุดลงของโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) แม้ว่าจะเป็นระยะท้าย ๆ ของโรคก็ตาม การหยุดสูบบุหรี่ลดอัตราการแย่ลงของการทำงานของปอด และชะลอการเริ่มต้นของความทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้
- การหยุดสูบบุหรี่เริ่มจากการตัดสินใจหยุดสูบบุหรี่และจากนั้นเป็นการพยายามที่จะหยุดสูบบุหรี่ โดยส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีการพยายามหลายครั้งก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ในคนจำนวนเกือบ 40% การพยายามเป็นเวลามากกว่า 5 ปีจะส่งผลที่เป็นความสำเร็จ
- ในผู้สูบบุหรี่บางรายสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้สำเร็จในระยะยาวด้วยพลังจากความตั้งใจเท่านั้น
- การสูบบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่เลิกได้ยากและผู้สูบบุหรี่หลายรายต้องการการสนับสนุนด้านอื่น ๆ โอกาสของการหยุดสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากสังคม การเข้าร่วมในโครงการการหยุดสูบบุหรี่ และการใช้ยา อาทิ การบำบัดด้วยการทดแทนนิโคติน ยา Bupropion หรือ Varenicline
ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) จำนวน 329 ล้านคนหรือเกือบ 5% ของจำนวนประชากรในปี ค.ศ. 2012 โรคนี้เป็นโรคอันดับที่ 3 ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนกว่า 3 ล้านคน จำนวนของผู้เสียชีวิตนั้นคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นและอายุของประชากรในหลาย ๆ ประเทศ