ในระบบทางเดินปัสสาวะ อวัยวะส่วนใหญ่จะอยู่หลังอวัยวะอื่นที่อยู่ในช่องท้องและบางอวัยวะจะอยู่ในบริเวณที่แคบและลึกภายในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นการผ่าตัดอวัยวะในระบบนี้ด้วยวิธีดั้งเดิมนั้นจะต้องอาศัยการเปิดแผลกว้างและเครื่องมือถ่างขยาย ทำให้มีการดึงรั้งผนังหน้าท้องและบริเวณแผลผ่าตัดเป็นอย่างมาก เป็นผลให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บแผลค่อนข้างมาก ฟื้นตัวช้าได้
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคและอุปกรณ์การผ่าตัดส่องกล้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การผ่าตัดผ่านกล้องศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องสามารถมาปรับใช้ในการผ่าตัดรักษาโรคที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะเกือบทุกอวัยวะ ประกอบกับกำลังขยาย ความคมชัดของกล้องที่ดี ทำให้มองเห็นอวัยวะที่จะผ่าตัดที่อยู่ในที่แคบได้ดีขึ้น ทำให้ผลการผ่าตัดได้ผลดี เสียเลือดน้อยกว่า การผ่าตัดส่องกล้องเปิดช่องท้องแบบดั้งเดิมได้ รวมถึงอุปกรณ์และแผลที่มีขนาดเล็ก ทำให้ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า อีกทั้งแผลที่เล็กมีผลต่อความสวยงามอีกด้วย
การผ่าตัดส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
การผ่าตัดส่องกล้องศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะมีหลายชนิด โดยขึ้นกับโรคที่เป็นในแต่ละอวัยวะ ได้แก่
-
ต่อมลูกหมาก Laparoscopic Radical Postatectomy, Laparoscopic Simple Prostatectomy
-
ไต Laparoscopic Radical Nephrectomy, Laparoscopic Partial Nephrectomy, Laparoscopic Nephroureterectomy, Laparoscopic Pyeloplasty
-
ต่อมหมวกไต Laparoscopic Adrenalectomy
-
กระเพาะปัสสาวะ Laparoscopic Radical Cystectomy, Laparoscopic Partial Cystectomy and Laparoscopic Ureteric Reimplant
3 กลุ่มโรคเด่นผ่าตัดส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
1) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)
อาการ : ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง แต่กลุ่มที่มีอาการ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปวดกระดูก อาจบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
การวินิจฉัย : โดยการเก็บชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา โดยข้อบ่งชี้ มีความผิดปกติของ PSA และ/หรือ มีความผิดปกติจากการคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก
การรักษา : Laparoscopic Radical Prostatectomy เป็นหนึ่งในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มแรก โดยเป็นการผ่าตัดส่องกล้องด้วยการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งต่อม อาจร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หลังจากนำต่อมลูกหมากออกแล้ว จะทำการเย็บท่อปัสสาวะเชื่อมกับกระเพาะปัสสาวะเพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะออกทางเดิมได้ การผ่าตัดต่อมลูกหมากส่องกล้องผลการรักษาที่ดีใกล้เคียงการผ่าตัดเปิดช่องท้อง เนื่องจากกำลังขยายของกล้องจะช่วยให้การเก็บเส้นประสาทระหว่างผ่าตัดที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดได้ดีขึ้น รวมถึงการห้ามเลือดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เสียเลือดน้อยกว่าความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วแผลเล็ก
2) มะเร็งไต (Renal Cell Carcinoma)
อาการ : ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง แต่กลุ่มที่มีอาการบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งระยะร้ายแรง คือ ปวดสีข้างคลำได้ก้อน ปัสสาวะเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การวินิจฉัย : โดยการใช้รังสีวินิจฉัย (CT scan whole abdomen)
การรักษา : Laparoscopic radical nephrectomy เป็นหนึ่งในการรักษามะเร็งไตระยะเริ่มแรก การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านกล้องผลการรักษาที่ดีใกล้เคียงการผ่าตัดเปิดช่องท้อง เสียเลือดน้อยกว่า ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็ว การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดเอาไตและก้อนมะเร็งออกทั้งหมด
3) ก้อนที่ต่อมหมวกไต (Adrenal Mass : Primary Hyperaldosterondism, Cushing Syndrome, Pheochromocytoma)
อาการ : มีทั้งกลุ่มที่ไม่มีอาการแสดงคือ พบก้อนโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตราซาวนด์กับกลุ่มที่แสดงอาการ เช่น ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็น ๆ หาย ๆ ปวดศีรษะ เหงื่อออกง่าย ใจสั่น หรือกลุ่มที่มีอาการหน้าบวมตัวบวม
การวินิจฉัย : การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และประกอบกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา : Laparoscopic Adrenalectomy เป็นการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเอาก้อนที่ต่อมหมวกไตออก เนื่องจากต่อมหมวกไตเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและอยู่หลังอวัยวะในช่องท้อง ทำให้การผ่าตัดทางกล้องในต่อมหมวกไตได้ประโยชน์เหนือกว่าการผ่าตัดเปิดวิธีดั้งเดิมมาก และนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน