อย่าปล่อยให้เด็กโมโหร้ายคุมความโกรธไม่ได้

4 นาทีในการอ่าน
อย่าปล่อยให้เด็กโมโหร้ายคุมความโกรธไม่ได้

อารมณ์โกรธของเด็กจะปรากฏขึ้นเมื่อไม่สามารถทำสิ่งใดได้หรือถูกขัดขวางไม่ให้ทำในสิ่งที่อยากทำ ซึ่งการแสดงออกถึงความโกรธแตกต่างไปตามอายุและช่วงวัยของเด็ก ถ้าหากเด็กแสดงออกถึงความโกรธและความก้าวร้าวที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ขว้างปาข้าวของ ทำร้ายเพื่อนหรือผู้อื่น เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องสอนวิธีการบริหารจัดการความโกรธให้กับเจ้าตัวเล็กและปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อควบคุมอารมณ์โกรธของเด็กให้อยู่ในระดับที่ปกติ

 

ปัจจัยของความโกรธ

ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กควบคุมความโกรธของตนเองไม่ได้ ประกอบด้วย

  1. ร่างกาย ได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บ เช่น สมาธิสั้น ไบโพลาร์ ออทิสติก เป็นต้น อีกทั้งโครงสร้างสมองและระดับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลก็ส่งผลให้เด็กใจร้อน หงุดหงิด ซึมเศร้าได้
  2. จิตใจ ได้แก่ พื้นฐานธรรมชาติทางอารมณ์ของเด็ก เช่น ขี้โมโห เจ้าอารมณ์ ขาดความอดทน เป็นต้น
  3. สภาพแวดล้อม ได้แก่ การเลี้ยงดู เช่น เด็กเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา พ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นต้น อีกทั้งการรับเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงผ่านสื่อต่าง ๆ ก็มีผลกับความโกรธของเด็กได้เช่นกัน

 

CHECKLIST ความโกรธน่าเป็นห่วง

เจ้าตัวเล็กอาจไม่สามารถควบคุมความโกรธและแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการโกรธที่ไม่ธรรมดาของเด็กเบื้องต้น ได้แก่

  • หยิก
  • ดึงผม
  • ฉุดกระชาก
  • ดื้อมากไม่ฟังใคร
  • ขว้างปาข้าวของ
  • โมโหร้าย อาละวาด
  • ชักดิ้นชักงอ
  • ร้องไห้นานเป็นชั่วโมง
  • ตบหน้าพ่อแม่หรือทำร้ายคนเลี้ยงดู เช่น พี่เลี้ยง
  • ทุบตีหรือทำร้ายเพื่อนที่โรงเรียนและผู้อื่น

 

รับมือกับเด็กโกรธ

ในกรณีที่เด็กควบคุมความโกรธไม่ได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. เด็กโกรธแบบรับมือได้ คือ พ่อแม่สามารถประคับประคองหรือปลอบประโลมได้ สอนวิธีจัดการความโกรธได้
  2. เด็กโกรธรุนแรงแบบรับมือไม่ได้ คือ เด็กที่โกรธแล้วทำร้ายพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้าง เช่น กัดและหยิกจนเป็นแผล

 

รักษาแบบร่วมมือ

หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถรับมือกับเด็กที่ควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้ วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือการปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นผู้ชำนาญการเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ประกอบด้วย

  • ซักประวัติ ตรวจความปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง หากสิ่งแวดล้อมโดยรอบมีความสงบเป็นปกติ แต่เด็กโกรธรุนแรงจนผิดสังเกต เราควรต้องรีบพิจารณาโรคภัยไข้เจ็บของเด็กเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  • ปรับเปลี่ยนร่วมกับสมาชิกในครอบครัว รู้จุดแข็ง จุดอ่อน จุดเปราะบางของเด็ก และพร้อมเปิดใจที่จะปรับเปลี่ยนไปพร้อมกันภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • รับประทานยา หากอาการที่เกิดจากความโกรธของเด็กยังไม่ดีขึ้น การทานยาอาจช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้น70 – 80% เว้นแต่พ่อแม่ผู้ปกครองมีอารมณ์และพฤติกรรมที่ส่งผลให้เด็กขาดกำลังใจ ผลของยาจะเหลือเพียง 30 – 40% เท่านั้น

 

ต้นเหตุความรุนแรงควรรู้

หลากหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กควบคุมความโกรธไม่ได้ ส่วนใหญ่มาจากการที่เด็กถูกทารุณ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. สาเหตุจากภายในครอบครัว ได้แก่ ผู้ปกครองอายุน้อยขาดความอดทนต่อการแสดงออกของเด็ก, ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น, มีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ, ขาดความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก, มีปัญหาจิตเวช หวาดระแวง ซึมเศร้า, มีความกดดันและเครียดเกี่ยวกับลูกที่ต้องดูแลตลอดเวลาและขาดการพักผ่อน, ตั้งความหวังกับเด็กสูงเกินไป, ไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็ก
  2. สาเหตุจากตัวเด็ก ได้แก่ พื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก, ซนมาก, จิตวิทยาและพัฒนาการไม่สมวัย
  3. สาเหตุจากสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และภาวะวิกฤติ ได้แก่ ความยากจน, สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในชีวิตประจำวัน, อุปสรรคทางสังคมและเศรษฐกิจนำมาซึ่งการใช้กำลังในครอบครัว, ผลกระทบจากความตึงเครียด และวิกฤติภายในครอบครัว ครอบครัวอยู่ในระบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือทางสังคมต่ำ
  4. สาเหตุจากการจัดการศึกษาที่ไม่เหมาะสมในวัยก่อนเรียน ส่งผลให้เกิดความกดดันทางอารมณ์ (Emotional Stress) เช่น การเร่งรัดให้เด็กเรียนมากเกินไปไม่สมวัย

 

สอนลูกจัดการความโกรธ

การสอนวิธีบริหารจัดการความโกรธ (Anger Management) ให้กับลูกคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  • พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองมีความโกรธให้นิ่งหรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อย ๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความนุ่มนวล ทำให้เด็กเห็นเป็นประจำเพื่อให้ซึมซับตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธ
  • ปล่อยเด็กให้อยู่กับตัวเองแล้วค่อยอธิบายภายหลัง หากเด็กมีความโกรธไม่รุนแรง เช่น หน้าบึ้ง ร้องไห้ ฮึดฮัด เป็นต้น ลองปล่อยให้อยู่กับตัวเองจนใจเย็นลง แล้วค่อยเข้าไปถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าถึงความคับข้องใจของเขา พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ในการที่จะรับฟัง อย่าตำหนิ แต่ควรชี้ให้เขาเห็นว่าอะไรคือผลที่ตามมาจากการกระทำของเขา สอนให้เขารู้จักที่จะขอโทษ เช่นเดียวกับการรู้อภัย  และบอกถึงวิธีจัดการความโกรธที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ครั้งต่อ ๆ ไปที่จะตามมาในอนาคต และเส้นทางอื่น ๆ ในการระบายความรู้สึกไม่พอใจในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ต้องผ่านความรุนแรง เช่น เมื่อโกรธให้ถอยออกมาจากวงของความขัดแย้ง สงบสติอารมณ์ แล้วแยกตัวไปอยู่ในที่ที่เงียบสงบหรือไปเล่นดนตรี เล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  • เข้าใจความโกรธของเด็ก เมื่อเห็นเด็กโกรธ พ่อแม่ผู้ปกครองบอกเด็กให้รู้และเข้าใจว่าความโกรธของเขาถือเป็นเรื่องธรรมชาติปกติ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโกรธได้ แต่เมื่อโกรธแล้วเด็กจะต้องรู้จักวิธีที่จะสงบสติอารมณ์ของตนเองลงให้ได้เสียก่อนเป็นลำดับแรก การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีหนึ่งที่มีความเหมาะสม เมื่อเขาอารมณ์นิ่งขึ้นจึงให้เขาเลือกวิธีที่จะจัดการกับความโกรธของเขาที่ยังเหลืออยู่อย่างเหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้เขาได้หัดคิดและเรียนรู้ โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยประคับประคอง
  • สำหรับพฤติกรรมโกรธที่รุนแรงมากควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ ในกรณีที่เด็กมีการทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และข้าวของ ควรต้องรีบหยุดเด็กในตอนนั้น และพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทันที
  • แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความรุนแรงในสังคม ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งข่าว ละคร มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงปรากฏขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรอธิบายเหตุผลให้เด็กฟังและฟังความคิดเห็นของเด็กเพื่อแนะนำอย่างเหมาะสม


เพราะความโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็กที่เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนวิธีจัดการความโกรธอย่างถูกต้องเพื่อให้เจ้าตัวเล็กควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมเติบโตอย่างมีคุณภาพ

  

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ชลภัฎ จาตุรงคกุล

จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

นพ. ชลภัฎ จาตุรงคกุล

จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวช

ชั้น 4 โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 8.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด