ปวดท้องอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

3 นาทีในการอ่าน
ปวดท้องอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

ปวดท้องเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแต่ละตำแหน่งบ่งบอกความผิดปกติที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการรับมือได้อย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย


ปวดท้องคืออะไร

อาการปวดท้องคือสัญญาณเตือนของร่างกายต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของอวัยวะในช่องท้องที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอาการปวดหรืออวัยวะใกล้เคียง


อาการปวดท้องมีกี่แบบ

อาการปวดท้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปวดและลักษณะอาการที่ปวด แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. ปวดท้องเฉียบพลัน อาการปวดท้องรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ นิ่วที่ท่อไต นิ่วในถุงน้ำดี ท้องนอกมดลูก ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน กระเพาะทะลุ หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่ง พอง แตก เป็นต้น
  2. ปวดท้องเรื้อรัง อาการปวดท้องนานกว่า 3 เดือน โดยอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน มะเร็งอวัยวะในช่องท้อง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ นิ่วในถุงน้ำดี แผลติดเชื้อในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ปวดท้องอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

ปวดท้องตรงไหนบอกโรคอะไร

  • ช่องท้องส่วนบน โดยเฉพาะอาการปวดท้องช่วงบนกลางบริเวณลิ้นปี่เป็นสัญญาณของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ มักมาด้วยอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดท้องก่อนและหลังอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ที่มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด นอกจากนี้โรคที่ต้องระวังจากอาการปวดบริเวณลิ้นปี่และอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ แขนซ้าย กราม ร่วมกับเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น แต่ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยร่วมด้วย อาทิ อายุมากกว่า 40 – 50 ปี มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ น้ำหนักเกินเกณฑ์ สูบบุหรี่เป็นประจำ มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพทันที

นอกจากนี้บริเวณชายโครงขวาเป็นสัญญาณของนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรง โดยจะปวดตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไปจนถึงหลายชั่วโมง บางครั้งปวดร้าวไปถึงสะบักหรือไหล่ขวา ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง หลังกินอาหารมัน ๆ จะยิ่งปวดมากขึ้น หากเริ่มมีการอักเสบของถุงน้ำดีร่วมด้วย อาจมีไข้ขึ้น ปวดใต้ชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม สิ่งที่ต้องระวังคือ ภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้องที่อาจแตกได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น โรคประจำตัว การควบคุมความดันได้ไม่ดี เป็นต้น

  • ช่องท้องส่วนล่าง ที่พบบ่อยคือ ไส้ติ่งอักเสบ อาจมาด้วยอาการปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดรอบ ๆ สะดือบริเวณกลางท้อง ร้าวไปที่ท้องน้อยด้านขวาล่าง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน แม้จะกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น หากไส้ติ่งแตกอาจอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้หากปวดท้องช่วงล่างเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป เช่น อุจจาระลีบลง เป็นเม็ด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง อาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ทันที อีกทั้งในผู้หญิงหากปวดบริเวณท้องน้อยส่วนล่าง ต้องระวังการตั้งครรภ์นอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ โดยมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมากระปริบกระปรอย ปวดท้องน้อยรุนแรง หน้ามืด เป็นลม ตกเลือดในช่องท้อง ความดันตก เป็นต้น

ปวดท้องแบบไหนต้องมาพบแพทย์

  • ปวดท้องเฉียบพลันเกิน 6 ชั่วโมง 
  • ปวดท้องเรื้อรังเกิน 3 เดือน 
  • ปวดท้องมากขยับตัวก็ยังปวด 
  • ปวดท้องจนนอนไม่หลับ 
  • ปวดท้องร้าวทะลุไปหลัง 

นอกจากนี้ยังมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ขึ้น อาเจียนรุนแรงมากกว่า 3 – 4 ครั้ง เลือดออกทางช่องคลอด คลำได้ก้อนในช่องท้อง หน้ามืดจะเป็นลม ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป ลีบเล็ก เม็ดเล็ก ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลด กลืนติด กลืนลำบาก ควรมาพบแพทย์ทันที


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง

พญ.แอนน์ ตันติพิพันธวัตร อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับช่องท้อง โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในทุกวันได้อย่างมีความสุข

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. แอนน์ ตันติพินธวัตร

อายุรศาสตร์เวชศาสตร์ครอบครัว

พญ. แอนน์ ตันติพินธวัตร

อายุรศาสตร์เวชศาสตร์ครอบครัว

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด