ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยของคู่สามีภรรยายุคใหม่ เนื่องจากแต่งงานช้าขึ้น อายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่งผลให้สมรรถภาพการมีบุตรลดลง คำถามที่ผู้หญิงสงสัยกันมากคือ ผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ถึงอายุเท่าไร ทำไมยิ่งอายุมากโอกาสตั้งครรภ์ถึงลดลง ดังนั้นการรู้เท่าทันและวางแผนชีวิตคู่ในเรื่องการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะได้จัดการได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องเสียใจกับคำว่ารู้แบบนี้หรือสายเกินไปที่จะตั้งครรภ์
อายุคุณผู้หญิงกับโอกาสตั้งครรภ์
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ยากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่ตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดลดลง ได้แก่
■ ความคลาดเคลื่อนของโครโมโซม
เซลล์ร่างกายประกอบด้วยโครโมโซมทั้งหมด 46 ชิ้นหรือ 23 คู่ การที่ทารกจะลืมตาดูโลกนั้นมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์สืบพันธุ์ (Gamete) ของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเซลล์สืบพันธุ์นี้ก็จะนำเอาสารพันธุกรรมของพ่อและแม่ไปรวมกันเกิดขึ้นเป็นชีวิตใหม่ขึ้นมา ดังนั้นการที่แต่ละฝ่ายต้องส่งเซลล์สืบพันธุ์ไปปฏิสนธิกันให้เป็นชีวิตใหม่จะต้องส่งไปเพียง 23 ชิ้นเพื่อให้รวมกันเป็น 46 ชิ้น ซึ่งเป็นจำนวนปกติของเซลล์มนุษย์
กลไกการแบ่งโครโมโซมจาก 46 ชิ้นในเซลล์ร่างกายปกติไปเป็น 23 ชิ้นในไข่นั้น ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกครั้ง หมายความว่าไข่บางใบอาจแบ่งโครโมโซมได้ 23 ชิ้น หรืออาจมากไปเป็น 24 ชิ้น หรืออาจขาดไปเหลือแค่ 22 ชิ้น ดังนั้น เมื่อไข่ใบที่มีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ แม้ไปผสมกับอสุจิที่มีจำนวนโครโมโซมปกติ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะมีจำนวนโครโมโซม ไม่ปกติ อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 46 ชิ้น ทำให้ตัวอ่อนแสดงความผิดปกติในหลายรูปแบบ ได้แก่ ตัวอ่อนหยุดการแบ่งเซลล์ตั้งแต่ยังไม่ฝังตัว ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้ ตัวอ่อนฝังตัวได้แต่ไม่สามารถสร้างอวัยวะและเนื้อเยื่อได้ตามปกติหรือท้องลม ตัวอ่อนฝังตัวได้แต่แท้งในระยะต่อมา หรือตัวอ่อนเติบโตจนคลอดออกมา แต่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือสติปัญญา ซึ่งอัตราความคลาดเคลื่อนของโครโมโซมในไข่จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นในแต่ละปี จึงทำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากตั้งครรภ์ยากและมีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น
■ พลังงานในเซลล์ไข่
เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น พลังงานในเซลล์ไข่จะด้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนมีประสิทธิภาพด้อยลง แบ่งเซลล์ได้ช้า ไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นบลาสโตซิสต์ หรือบางครั้งหยุดโตกลางทาง หรือไปหยุดการเจริญเติบโตหลังจากใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ทำให้ไม่เกิดการฝังตัวอ่อน จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์
อายุของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ต่อเดือนลดลง การเพิ่มขึ้นของอัตราการแท้งต่อการตั้งครรภ์แต่ละครั้งมากขึ้น และมีโอกาสการคลอดบุตรที่เป็นดาวน์ซินโดรมตามอายุที่มากขึ้น ตัวเลขการตั้งครรภ์จึงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง การตั้งครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใจคิด
ตั้งคำถามเมื่อเริ่มใช้ชีวิตคู่
✓ ความสุขในการใช้ชีวิตคู่คืออะไร
✓ อยากใช้ชีวิตคู่กันเพียงแค่สองคนหรือไม่
✓ มีความต้องการมีบุตรมากแค่ไหน
✓ ถ้าต้องการมีบุตรน่าจะพร้อมตั้งครรภ์เมื่ออายุเท่าใด และจะมีปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง
✓ ถ้าต้องการมีบุตร อยากมีบุตรกี่คน
✓ ถ้าต้องการมีบุตรหลายคน แต่เริ่มตั้งครรภ์ตอนอายุมาก เช่น 39 ปี จะมีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง เพราะการตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดและดูแลให้นมบุตรหลังคลอดมักจะใช้เวลารวมแล้วเกือบ 2 ปี จึงจะเริ่มตั้งครรภ์ได้ใหม่
ปัจจุบันมีวิธีการที่ช่วยให้สามารถตั้งครรภ์ได้ตามที่ตั้งใจอย่างวิธีคัดเชื้อฉีดเข้าโพรงมดลูก (IUI – Intrauterine Insemination) ที่คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาฉีดให้ฝ่ายหญิงบริเวณปากมดลูก หรือโพรงมดลูก หรือท่อนำรังไข่ในช่วงที่ไข่ตก และการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) ที่เจาะเก็บไข่สุกออกมาแล้วนำไปผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง หรือจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อน ทำให้เกิดการปฏิสนธิในหลอดทดลองหรือจานแก้ว จากนั้นจะเกิดตัวอ่อนในระยะที่สมบูรณ์ให้นำกลับไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อฝังตัวและเติบโตในครรภ์ ซึ่งศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลด้วยแพทย์ที่มีความชำนาญและทีมสหาสาขาวิชาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ และมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากลเพื่อผลการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุด