ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในนักเดินทาง
โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในนักเดินทาง (Travelers Thrombosis) เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำที่ขาจากการที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ร่างกายขาดสารน้ำ ใช้ยานอนหลับ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ความชื้นในห้องโดยสารต่ำ ขาดออกซิเจนและความดันในห้องโดยสารต่ำ โดยความเสี่ยงมักเกิดเมื่อเดินทางเกิน 4 – 6 ชั่วโมง หรือระยะทางไกลกว่า 5,000 กิโลเมตร จนกระทั่งลิ่มเลือดนั้นหลุดจากหลอดเลือดดำไปอุดหลอดเลือดที่ปอด เกิดอาการเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตในที่สุด
อีกภาวะหนึ่งที่อาจเกิดร่วมด้วยคือ Travelers Stroke พบว่า ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอดอาจหลุดไปถึงหลอดเลือดแดงในสมองด้วย โดยผ่านทางช่องเปิดที่ผนังกั้นห้องหัวใจ (Persistent Foramen Ovale หรือ PFO) ซึ่งโดยทั่วไปผนังนี้จะปิดตั้งแต่วัยทารกแรกเกิด แต่ร้อยละ 17 – 27 ของคนทั่วไปกลับไม่ปิด ทำให้ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำเล็ดลอดไปห้องหัวใจด้านซ้ายโดยไม่ผ่านปอดและหลุดไปอุดหลอดเลือดแดงในสมอง ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ได้ เช่น มีอาการใบหน้าเบี้ยว พูดลิ้นแข็ง หรือเสียภาษาพูด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น
หลายคนสงสัยว่า กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นและพบบ่อยแค่ไหน มีรายงานการศึกษา พบว่า ร้อยละ 4.5 – 10 มีผู้โดยสารเที่ยวบินระยะยาวที่ไม่มีอาการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ และร้อยละ 0.39 ต่อผู้โดยสาร 1 ล้านคนจะเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด ซึ่งการเดินทางจะเพิ่มความเสี่ยงโดยเฉลี่ยเกือบ 3 เท่า และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในแต่ละช่วงการเดินทางที่นานกว่า 2 ชั่วโมง โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า และมักพบในวัย 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งระยะเวลาเดินทางโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมง หรือบินไกล 9,000 กิโลเมตร
ปัจจัยเสี่ยงก่อโรค
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
- ภาวะอ้วน
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่หรือผ่าตัดกระดูกชิ้นยาว ๆ ภายใน 2 สัปดาห์
- มีประวัติเป็นลิ่มเลือดดำอุดตันมาก่อน
- การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำไม่ดี เช่น มีเส้นเลือดขอด
- มีประวัติเป็นเนื้องอกภายใน 2 ปี
- รับประทานยาคุมกำเนิด
- มีภาวะบางอย่างที่จำกัดการเคลื่อนไหว
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น
ป้องกันก่อนสาย
โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในนักเดินทางอาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ขาหรือการนั่งงอสะโพกและเข่าอย่างมากเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ
- ออกกำลังกายบริหารขาทั้งสองข้าง ลุกยืน และเดินบ่อย ๆ
- ดื่มน้ำให้มาก
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ
- ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไว้ก่อนเดินทาง
นอกจากนี้มีการศึกษาในผู้ที่แข็งแรงดีพบว่า การใช้ถุงเท้าที่ใช้พันรอบขา สามารถลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยถุงเท้าจะออกแรงบีบกล้ามเนื้อขาเพื่อช่วยไล่เลือดจากขากลับไปยังหัวใจได้