การทำงานของไตที่ลดลงจนร้ายแรงถึงขั้นไตวายเรื้อรัง ส่งผลให้ไตไม่สามารถขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย จำเป็นจะต้องได้รับการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม ล้างไตผ่านทางช่องท้อง หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกเลือดล้างไตตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะได้ปลูกถ่ายไตจะต้องผ่าตัดเส้นฟอกไต (Vascular Access) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและประสิทธิภาพการรักษาที่ดีในระยะยาว
รู้จักไตวายเรื้อรัง
ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตไม่สามารถขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมาจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการฟอกเลือด ไม่ว่าจะเป็น
- บวมทั่วตัว
- ซีด
- เหนื่อยง่าย
- ปัสสาวะน้อยลง
- ความดันโลหิตสูง
- ฯลฯ
ฟอกไตทางหลอดเลือด
การฟอกไตทางหลอดเลือด (Hemodialysis) เป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพื่อกำจัดของเสียและปรับสมดุลเลือดให้กับผู้ป่วยไตวาย โดยผู้ป่วยจะได้รับการใส่สายฟอกเลือดชั่วคราวด้วยเข็มฟอกเลือดขนาดโตที่เจาะเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อให้หลอดเลือดดำมีขนาดโตและเลือดไหลเวียนได้มากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยไตวายที่บำบัดด้วยการฟอกเลือดล้างไตจะต้องล้างวันละ 4 – 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต จึงจำเป็นที่จะต้องทำเส้นฟอกไต
ผ่าตัดเส้นฟอกไต
การผ่าตัดเส้นฟอกไต (Vascular Access) เป็นการผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวาย โดยทำการผ่าตัดแผลเล็กบริเวณข้อมือข้างที่ไม่ถนัด หากเส้นเลือดที่ข้อมือมีขนาดเล็ก แพทย์จะพิจารณาทำบริเวณข้อพับแทน จากนั้นแพทย์จะทำทางเชื่อมต่อเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เส้นเลือดดำมีขนาดโตและเลือดไหลเวียนจากเส้นเลือดแดงไปยังเส้นเลือดดำได้มากขึ้น การผ่าตัดส่วนใหญ่จะใช้ยาชาเฉพาะที่ช่วยลดอาการปวด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากผ่าตัด
ประเภทของเส้นฟอกไต
การผ่าตัดเส้นฟอกไตมี 2 ประเภท ได้แก่
1) เส้นเลือดจริง (AVF: Arteriovenous Fistula) ใช้เส้นเลือดจริงของผู้ป่วย คือ เส้นเลือดดำเชื่อมต่อกับเส้นเลือดแดงของผู้ป่วย ต้องใช้เวลาหลังผ่าตัดประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ โดยเส้นเลือดดำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังเส้นเลือดจึงสามารถใช้ฟอกไตได้
ลักษณะเส้นฟอกไต AVF ที่ดี ได้แก่
- ขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร
- ลึกจากผิวหนังไม่เกิน 6 มิลลิเมตร
- อัตราการไหลเวียนของเลือดอย่างน้อย 600 มิลลิลิตรต่อนาที
- เส้นเลือดดำค่อนข้างยาวตรงไม่คดเคี้ยว
ข้อดีของการใช้เส้นเลือดจริง คือ ใช้ได้นานประมาณ 4 – 5ปี ภาวะแทรกซ้อนต่ำ อัตราการติดเชื้อต่ำ การตีบตันของเส้นเลือดต่ำ โดยปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการทำเส้นฟอกไต คือ คุณภาพของเส้นเลือด การออกกำลังข้อมือ ความเข้มข้นของเลือด และการตีบตันของหลอดเลือด เป็นต้น
2) เส้นเลือดเทียม (AVG: Arteriovenous Graft) ใช้ในกรณีที่เส้นเลือดจริงของผู้ป่วยมีขนาดเล็กหรือไม่มีเส้นเลือดดำที่เหมาะสมในการทำเส้นฟอกไต โดยขนาดเส้นเลือดดำที่เหมาะสมควรมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 2.5 มิลลิเมตร แพทย์จะใช้เส้นเลือดเทียมหรือท่อเชื่อมต่อเส้นเลือดแดง ซึ่งสามารถใช้ฟอกไตได้หลังผ่าตัดตั้งแต่ 1 วัน – 3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นเลือดเทียม แต่ข้อจำกัดของเส้นเลือดเทียม คือ อายุการใช้งานสั้น ภาวะแทรกซ้อนสูง ราคาจะสูงกว่าเส้นเลือดจริง
ขั้นตอนการทำเส้นฟอกไต
- ฟอกทำความสะอาดแขนข้างที่จะผ่าตัด
- ฉีดยาชาเฉพาะที่และผ่าตัดแผลเล็กยาวประมาณ 3 เซนติเมตร
- คล้องเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ต่อเส้นเลือดดำเข้ากับเส้นเลือดแดงโดยใช้ไหมขนาดเล็ก 7 – 0
- คลำได้เหมือนเลือดวิ่งบริเวณเส้นเลือดดำ (Thrill)
- ทำการห้ามเลือดและเย็บปิดแผล
- ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
ความยากในการทำเส้นฟอกไต
- ผู้ป่วยไม่สามารถนอนราบได้ประมาณ 1 ชั่วโมง
- แขนมีขนาดโตและอ้วน
- เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำมีขนาดเล็ก
- เส้นเลือดแดงแข็งและมีแคลเซียมปริมาณมาก
เมื่อไรควรทำเส้นฟอกไต
- เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 5 ของโรคไต คือค่า GFR น้อยกว่า 15 mL./min/1.73 m2
- ต้องฟอกไตภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี
- อาจต้องฟอกไตฉุกเฉินเมื่อมีอาการปัสสาวะออกน้อย, ซึมลง, อ่อนเพลีย, ภาวะเลือดเป็นกรด และเกลือแร่ในกระแสเลือดผิดปกติ, บวมทั้งตัว
หากไม่ได้ทำเส้นฟอกไตไว้ล่วงหน้าอาจจำเป็นต้องใส่สายฟอกไตบริเวณลำคอเพื่อฟอกไตไปก่อนจนกว่าเส้นฟอกไตจะใช้ได้ ซึ่งใช้เวลาโดยประมาณ 6 สัปดาห์ (กรณีใช้เส้นเลือดจริง AVF)
เตรียมตัวก่อนทำเส้นฟอกไต
- ตรวจร่างกายและอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินความพร้อมของเส้นเลือด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาเพื่อควบคุมโรคก่อนผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการเจาะเลือด วัดความดันโลหิต ให้น้ำเกลือ หรือฉีดยาแขนข้างที่จะทำเส้นฟอกไต เพราะอาจทำให้เส้นเลือดดำเสียหาย
- ก่อนทำเส้นฟอกไตไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
- ควรบริหารเส้นเลือดข้างที่จะทำเส้นฟอกไตด้วยการบีบและคลายลูกบอลสลับไปมาครั้งละ 10 – 15 นาทีเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด
ดูแลหลังทำเส้นฟอกไต
- ดูแลแผลให้สะอาด ไม่แกะเกาบริเวณแผล ห้ามแผลโดนน้ำ
- ล้างแผลสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
- ตัดไหมประมาณ 2 – 3 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสวมแหวน นาฬิกา กำไล ยกของหนัก การกระแทก ถูกของมีคม นอนทับแขน หรือใส่เสื้อที่รัดแขนข้างที่ทำเส้นฟอกไต
- ห้ามวัดความดันโลหิต เจาะเลือด ฉีดยาแขนข้างที่ทำเส้นฟอกไต
- แขนข้างที่ทำเส้นฟอกไตสามารถใช้งานได้ปกติ เพื่อลดอาการแขนบวม
- ผู้ป่วยที่ทำเส้นฟอกไตด้วยเส้นเลือดเทียม หลังผ่าตัดแขนอาจบวมได้ และจะยุบเองประมาณ 2 – 4 สัปดาห์
- นอนยกแขนสูงกว่าหัวใจเพื่อลดอาการบวม
- บริหารมือข้างที่ทำเส้นฟอกไต ด้วยการกำมือและคลายมือหรือบีบลูกบอล เพื่อให้หลอดเลือดแข็งแรง
- สังเกตเสียงชีพจรบริเวณข้อมือข้างที่ทำเส้นฟอกไต เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเส้นฟอกไตว่ายังทำงานได้ดีหรือไม่ เมื่อใดที่คลำชีพจรไม่ได้ควรติดต่อแพทย์ทันที
- หากมีอาการผิดปกติ อาทิ เลือดไหลซึมจากแผลมากผิดปกติ แขนที่ทำเส้นฟอกไตมีอาการบวมแดง ปวด ชา มือซีดและเย็นลง ปลายนิ้วสีเข้ม มีไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ข้อดีของการทำเส้นฟอกไต
- ไม่ต้องใช้สายฟอกไตชั่วคราว ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเส้นเลือดดำที่คอและช่องอกตีบตัน
- สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ ฯลฯ
- ไม่ต้องใส่สายฟอกไตที่คอแบบฉุกเฉิน
ข้อเสียของการทำเส้นฟอกไต
- อาจมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ ปวดมือขณะฟอกไต แขนบวม เส้นฟอกไตโป่งพอง ติดเชื้อ หรืออาจแตกจนเสียเลือดปริมาณมาก
- อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ถ้าปริมาณเลือดไหลผ่านเส้นเลือดจริง (AVF) มากเกินไป
- กรณีใช้เส้นเลือดเทียม (AVG) อาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าเส้นเลือดจริง (AVF)
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการผ่าตัดเส้นฟอกไตยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณภาพของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ความเข้มข้นของเลือด การอุดตันของเส้นเลือด ตลอดจนการออกกำลังของมือ ดังนั้นควรเลือกผ่าตัดรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด