ปวดขา สัญญาณเตือนหลอดเลือดส่วนปลายตีบ

3 นาทีในการอ่าน
ปวดขา สัญญาณเตือนหลอดเลือดส่วนปลายตีบ

โรคหลอดเลือดแดงอุดตันถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิต นั่นเพราะส่วนใหญ่แล้วการดำเนินโรคเป็นแบบเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยขาดความใส่ใจ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นมากแล้ว หากมีอาการปวดขา โดยเฉพาะเดินแล้วปวด อย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพหลอดเลือด (Early Detection of Peripheral Arterial Disease – PAD) เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเป็นแผลขาดเลือดเรื้อรังหรือสูญเสียอวัยวะ


ตัวการหลอดเลือดแดงอุดตัน

สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดแดงอุดตันเกิดจากการมีแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด เปรียบได้กับท่อน้ำประปาเมื่อใช้ไปก็จะมีตะกรันมาเกาะตามอายุ แต่จะมีมากและเร็วขึ้นถ้าคน ๆ นั้นมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาและปลายเท้าไม่สะดวกจึงทำให้ มีอาการปวดขา แผลหายยาก

โดยทั่วไปในขณะเดินกล้ามเนื้อที่ขาจะต้องการเลือดและออกซิเจนมากขึ้น ยิ่งบริเวณน่องเมื่อมีเลือดมาเลี้ยงไม่พอจะทำให้คนไข้รู้สึกปวด และเมื่อเป็นมากขึ้น เลือดมาเลี้ยงน้อยลงเรื่อย ๆ จนถึงแม้ไม่ได้เดินหรือใช้งาน กล้ามเนื้อก็จะเริ่มมีอาการปวดตลอดเวลา จนในที่สุดเลือดมาไม่พอที่จะเลี้ยงผิวหนังที่เท้าได้ ก็จะทำให้เป็นแผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน แผลเนื้อเน่าตายลุกลามจนอาจต้องถูกตัดเท้าในที่สุด


กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

โรคหลอดเลือดแดงตีบแคบสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ชายและผู้หญิง แต่อาจพบมากในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น

  1. โรคเบาหวาน
  2. โรคความดันโลหิตสูง
  3. โรคไต
  4. ไขมันในเลือดสูง
  5. สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่มาก่อน ถึงแม้จะหยุดสูบแล้วแต่ผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อหลอดเลือดยังคงอยู่

ตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันที่ขาสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ด้วยการ

  • ตรวจความดันเปรียบเทียบทุกแขนขา
  • ตรวจลักษณะความยืดหยุ่นของหลอดเลือดและการบีบตัว
  • ตรวจด้วยอัลตราซาวนด์
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การฉีดสารทึบแสง
  • ตรวจด้วยเครื่อง MRI 

แนวทางการรักษา

ปัจจุบันแนวทางในการดูแลรักษาต้องทำควบคู่กันไปตั้งแต่

  1. เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง คุมเบาหวาน ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรค
  2. หมั่นตรวจเท้าด้วยตนเองทุกวัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการชาอาจไม่รู้ตัวเวลามีแผล และพบแพทย์ตรวจสุขภาพเท้าทุกปีว่ามีจุดรับน้ำหนักใดที่ผิดปกติ อาจต้องใช้รองเท้าที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคลเพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดแผล
  3. ในรายที่เป็นมากขึ้น ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ได้แก่ การถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ใส่สเตนต์ เป็นต้น 
  4. การผ่าตัดบายพาส

ตรวจหลอดเลือดก่อนตีบ ป้องกันโดนตัดเท้า
ตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือด

การตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดทุกปีภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ ABI (Ankle Brachail Index) เพื่อดูว่ามีโรคของหลอดเลือดเเดงที่แขนหรือขาตีบหรือไม่ ตรวจความยืดหยุ่นของหลอดเลือด รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีตะกรัน (Atherosclerotic Plaque) ไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงขาได้อย่างพอเพียง จึงส่งผลให้คนไข้มีอาการปวดขา การตรวจเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจชีพจร ตรวจเปรียบเทียบความดันโลหิตที่ข้อเท้าและต้นแขน หากความดันโลหิตที่ข้อเท้าต่ำกว่าต้นแขน จะได้ค่า ABI น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.9 อาจบ่งชี้ได้ว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ขา แพทย์จะทำการตรวจหลอดเลือดตีบแข็ง ด้วย Pulse Volume Recoding (PVR) เพื่อวิเคราะห์สมรรถภาพการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงที่เท้า ผ่านการวัดความดันโลหิตที่แขนและขา ควบคู่กับอัตราการเต้นของชีพจรและความเร็วในการเคลื่อนที่ของชีพจร แล้วนำค่าที่ได้มาคำนวณหาความเสี่ยงหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ทำให้ได้ผลการตรวจที่มีความน่าเชื่อถือ สะดวกรวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างที่ตรวจ


ใครควรตรวจสุขภาพหลอดเลือด

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับ การตรวจสุขภาพหลอดเลือด ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดตีบแข็ง ปวดขา มีแผลเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน Peripheral Arterial Disease (PAD) 
  • ผู้ที่มีโรคหัวใจ
  • ผู้สูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetes mellitus)
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีดัชนีมวลกาย BMI >30
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คอเลสเตอรอลสูง 
  • ผู้ที่ไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Insufficiency)
  • ฯลฯ

นอกจากนี้คนปกติที่ไม่มีอาการใด ๆ ก็สามารถตรวจได้ ช่วยให้รู้ทันความเสี่ยงการอุดตันของโรคหลอดเลือดในอนาคต


ทั้งนี้การตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้รักษาได้เร็ว ลดความรุนแรง และการสูญเสียอวัยวะ คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น อีกทั้งการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันละ 30 นาที หรือในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักลง ควบคุมอาหาร รวมทั้งควบคุมโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิต หรือไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นการป้องกันไม่ให้อาการโรคหลอดเลือดอุดตันรุนแรงขึ้นได้


ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. วสุพงศ์ ศรีเดิมมา

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. วสุพงศ์ ศรีเดิมมา

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. ธำรงโรจน์ เต็มอุดม

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. ธำรงโรจน์ เต็มอุดม

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หลอดเลือด

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด