ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังเกิดจากความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดดำและลิ้นภายในหลอดเลือด ทำให้ระบบที่ควบคุมให้เลือดดำไหลกลับเข้าสู่หัวใจเสียไป เลือดจะคั่งในหลอดเลือดดำบริเวณส่วนล่างของร่างกาย ระยะแรกจะมีอาการบวม เป็น ๆ หาย ๆ ที่เท้า ข้อเท้า และขา ตามมาด้วยความเสื่อมเนื้อเยื่อจนเกิดแผลเรื้อรังในระยะยาว สาเหตุที่พบบ่อยคือ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำชั้นลึก การบาดเจ็บของหลอดเลือดดำ และการเสื่อมของหลอดเลือดดำในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคไต ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดดำ อาการที่พบระยะแรก ได้แก่ ปวดตึงน่อง คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิด เข้ารับการรักษาล่าช้า หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่ต้นจนลุกลามกลายเป็นภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) และเกิดแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำ (Chronic Venous Ulcer) ที่รักษาค่อนข้างยาก
หน้าที่หลอดเลือดดำ
หลอดเลือดดำมีหน้าที่สำคัญ คือ ลำเลียงเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแขนและขากลับสู่หัวใจ และเป็นแหล่งกักเก็บเลือดที่สำคัญ ปริมาณเลือดในระบบหลอดเลือดดำมีประมาณ 2 ใน 3 ของเลือดในร่างกาย ระบบหลอดเลือดดำประกอบด้วยหลอดเลือด 3 ส่วน คือ
- หลอดเลือดดำชั้นใต้ผิวหนัง (Superficial Venous System) มีขนาดเล็ก ผนังหลอดเลือดหนา มีลิ้นควบคุมให้เลือดไหลจากส่วนปลายแขน – ขาเข้าสู่หัวใจ
- หลอดเลือดดำชั้นลึก (Deep Venous System) ได้แก่ หลอดเลือดดำในกล้ามเนื้อและอวัยวะภายใน รับเลือดจากหลอดเลือดดำส่วนปลายกลับเข้าหัวใจ มีขนาดใหญ่ ผนังบาง
- หลอดเลือดดำทางเชื่อม (Communicating Vein) ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังกับหลอดเลือดดำชั้นลึก
รู้จักภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency: CVI) เกิดจากพยาธิสภาพของหลอดเลือดดำ เป็นหนึ่งในสามของโรคหลอดเลือดดำที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT)
- ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency: CVI)
สาเหตุของภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) เกิดได้จากการอุดตันของหลอดเลือดดำ (Venous Obstruction) และภาวะลิ้นของหลอดเลือดบกพร่อง (Valvular Insufficiency) มักเกิดหลังจากโรคหลอดเลือดดำลึกอุดตันเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (Deep Vein Thrombosis) ลิ่มเลือด และการมีเลือดคั่งจากการอุดตันกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด การอักเสบนี้จะทำลายลิ้นของหลอดเลือดดำ ทำให้ไม่สามารถควบคุมให้เลือดไหลกลับหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลือดจะคั่งจนความดันในหลอดเลือดดำสูงมาก ส่งผลให้ความเสื่อมของหลอดเลือดดำรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็แสดงอาการของภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังออกมา เช่น มีเลือดรั่วซึมออกไปสะสมในเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ผิวหนังสีคล้ำขึ้น มักพบรอบข้อเท้า เนื่องจากเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด มีความดันในหลอดเลือดดำสูงที่สุด ผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบจะอักเสบกลายเป็นแผลเรื้อรัง
กลุ่มเสี่ยงภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
- กรรมพันธุ์
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด
อาการภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
อาการภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) ขึ้นอยู่กับขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน แบ่งเป็น 7 ระยะ ได้แก่
- ระยะ 0 มีอาการปวดขา ขาหนัก เมื่อยขา ชา ร้อน บวม เป็นตะคริวในเวลากลางคืน หน่วงตึงบริเวณเท้าและขาส่วนล่าง
- ระยะ 1 หลอดเลือดฝอยพองโตขึ้นคล้ายใยแมงมุม
- ระยะ 2 เส้นเลือดขอด หลอดเลือดดำโตขึ้น ขยายตัวทั้งยาวขึ้น ใหญ่ขึ้น คดเคี้ยว
- ระยะ 3 เท้าและขาเริ่มบวม ขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- ระยะ 4 ผิวหนังเปลี่ยนสี แข็งกระด้าง เกิดรอยขาว โดยเฉพาะบริเวณเท้า รอบข้อเท้า และขาช่วงล่าง
- ระยะ 5 แผลที่ผิวหนัง แผลเปื่อย แผลอักเสบ โดยเฉพาะแผลใกล้ตาตุ่มด้านนอก
- ระยะ 6 เป็นแผลเรื้อรัง จากหลอดเลือดดำเสื่อม (Venous Ulcer) แผลมีขนาดใหญ่ บริเวณรอบข้อเท้า และติดเชื้อได้
สัญญาณเตือนภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
- ปวดตึงน่อง เมื่อยืนหรือเดินนาน ๆ
- เป็นตะคริว ขาชา หลอดเลือดฝอยพองโตหรือเส้นเลือดขอดร่วมด้วย
- บวมแดงร้อน (คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ไม่บวม)
- ผิวหนังที่ขาบวมแข็ง
แผลเรื้อรังจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
แผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำเสื่อม (Venous Ulcer) ที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังต่างจากแผลเรื้อรังจากสาเหตุอื่น โดยมีลักษณะดังนี้
- แผลมักอยู่บริเวณรอบตาตุ่ม พบบริเวณตาตุ่มด้านในมากกว่าตาตุ่มด้านนอก
- แผลมีลักษณะตื้นและไม่ลึก
- แผลมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เกิดขึ้นใหม่
- ฐานของแผลมักมีสีแดง บางครั้งเห็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงตามพื้นแผล
- แผลแฉะชุ่มเปียก
- ขอบแผลรุ่งริ่งมีสีดำโดยรอบ
- ไม่ค่อยเจ็บแผลยกเว้นติดเชื้อ
- ข้อเท้ามักบวมแข็ง
- ผิวหนังสีดำคล้ำ
ตรวจวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
- ตรวจร่างกายระบบหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
- ตรวจการทำงานของลิ้นในหลอดเลือดดำ (Percussion Test)
- ทดสอบความบกพร่องของลิ้นในหลอดเลือดดำ (The Tourniquet Test)
- ตรวจสัญญาณสะท้อนการไหลของเลือด (Doppler Ultrasound)
- Duplex Ultrasound การตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นความถี่สูงค้นหาการไหลเวียนเลือดที่ผิดทิศทางและภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน เพื่อประเมินการทำงานของหลอดเลือดดำ และลิ้นหลอดเลือดดำ
- Plethysmography ตรววจหาการอุดตันของเลือดในหลอดเลือดดำ
- Venography ตรวจภาพเอกซเรย์หลอดเลือดดำโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อค้นหาความผิดปกติ
รักษาภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง
การรักษาภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่
- สวมถุงน่องทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดดำบกพร่อง การไหลเวียนของเลือดดำจะไม่ดีแม้ขณะเดิน ควรเพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยสวมถุงน่องหรือถุงเท้าทางการแพทย์ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำและเวลานอน เพื่อบีบเลือดที่คั่งอยู่ในหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นให้ไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำชั้นลึก ช่วยลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ลดการเกิดตะคริว ลดอาการปวดน่อง ลดการอักเสบของผิวหนัง เร่งการหายของแผลเรื้อรัง
การสวมถุงน่องทางการแพทย์ที่ออกแบบให้มีการบีบรัดตามระดับที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ หมั่นขยับขาทั้งสองข้าง (ขยับนิ้วเท้าและเกร็งน่อง) ไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อขาและการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจได้ดี เช่น การว่ายน้ำ เต้นรำ หรือขี่จักรยาน ควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน นอนยกขาสูง สวมกางเกงที่ไม่รัดเกินไป นวดขาและเท้าบ่อย ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาบน้ำเย็นหรือประคบเย็นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนหลอดเลือดดำและช่วยลดอาการปวดขา เป็นต้น ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้
- การรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังเฉพาะที่ แพทย์จะทำแผลเพื่อขจัดเนื้อเยื่อที่ตาย ป้องกันแผลติดเชื้อ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และผิวหนังมาปกคลุมแผล โดยเน้นเรื่องความสะอาดและไม่เกิดอันตรายกับบาดแผล มีการพันรัดเท้าและขาเพื่อช่วยลดการคั่งของเลือดทุกครั้ง
- การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ แพทย์ตรวจหาตำแหน่งหลอดเลือดดำบกพร่องโดยใช้อัลตราซาวนด์ แล้วฉีดยาเข้าไปเฉพาะที่เพื่อไม่ให้เลือดดำไหลย้อนมาคั่งบริเวณแผลเรื้อรัง วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดและไม่เสียเวลาพักฟื้น โดยอาจมีการรับประทานยาเพื่อช่วยรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังร่วมด้วย
- การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดซ่อมสร้างหลอดเลือดส่วนลึก เพื่อแก้ไขการไหลย้อนกลับของหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยมีอาการขาบวมอย่างรุนแรงและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นของหลอดเลือดดำที่เสียให้ตึงขึ้น หรือผ่าตัดนำลิ้นที่ดีจากหลอดเลือดดำบริเวณแขนมาทดแทนลิ้นที่ถูกทำลายในหลอดเลือดดำส่วนขา หรือผ่าตัดเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดดำออก วิธีผ่าตัดดังกล่าวจะช่วยให้แผลหลอดเลือดดำเรื้อรังหายเร็วขึ้น ลดการเกิดแผลและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่มากขึ้น ลดอาการปวดขาและขาบวม ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความผิดปกติของหลอดเลือดดำหากปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ควรสังเกตความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ขาเป็นประจำหากมีเส้นเลือดขอดขาบวมผิวหนังเปลี่ยนสีหรือเป็นแผลที่หายช้าควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างเหมาะสมก่อนลุกลามยากเกินรักษา