ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) รีบรักษาก่อนลุกลามเกินเยียวยา

5 นาทีในการอ่าน
ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) รีบรักษาก่อนลุกลามเกินเยียวยา

ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังเกิดจากความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดดำและลิ้นภายในหลอดเลือด ทำให้ระบบที่ควบคุมให้เลือดดำไหลกลับเข้าสู่หัวใจเสียไป เลือดจะคั่งในหลอดเลือดดำบริเวณส่วนล่างของร่างกาย ระยะแรกจะมีอาการบวม เป็น ๆ หาย ๆ ที่เท้า ข้อเท้า และขา ตามมาด้วยความเสื่อมเนื้อเยื่อจนเกิดแผลเรื้อรังในระยะยาว สาเหตุที่พบบ่อยคือ การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำชั้นลึก การบาดเจ็บของหลอดเลือดดำ และการเสื่อมของหลอดเลือดดำในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคไต ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดดำ อาการที่พบระยะแรก ได้แก่ ปวดตึงน่อง คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิด เข้ารับการรักษาล่าช้า หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่ต้นจนลุกลามกลายเป็นภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) และเกิดแผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำ (Chronic Venous Ulcer) ที่รักษาค่อนข้างยาก

หน้าที่หลอดเลือดดำ

หลอดเลือดดำมีหน้าที่สำคัญ คือ ลำเลียงเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแขนและขากลับสู่หัวใจ และเป็นแหล่งกักเก็บเลือดที่สำคัญ ปริมาณเลือดในระบบหลอดเลือดดำมีประมาณ 2 ใน 3 ของเลือดในร่างกาย ระบบหลอดเลือดดำประกอบด้วยหลอดเลือด 3 ส่วน คือ 

  1. หลอดเลือดดำชั้นใต้ผิวหนัง (Superficial Venous System) มีขนาดเล็ก ผนังหลอดเลือดหนา มีลิ้นควบคุมให้เลือดไหลจากส่วนปลายแขนขาเข้าสู่หัวใจ
  2. หลอดเลือดดำชั้นลึก (Deep Venous System) ได้แก่ หลอดเลือดดำในกล้ามเนื้อและอวัยวะภายใน รับเลือดจากหลอดเลือดดำส่วนปลายกลับเข้าหัวใจ มีขนาดใหญ่ ผนังบาง 
  3. หลอดเลือดดำทางเชื่อม (Communicating Vein) ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังกับหลอดเลือดดำชั้นลึก

รู้จักภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง 

ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency: CVI) เกิดจากพยาธิสภาพของหลอดเลือดดำ เป็นหนึ่งในสามของโรคหลอดเลือดดำที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

  • เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) 
  • ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency: CVI)

สาเหตุของภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) เกิดได้จากการอุดตันของหลอดเลือดดำ (Venous Obstruction) และภาวะลิ้นของหลอดเลือดบกพร่อง (Valvular Insufficiency) มักเกิดหลังจากโรคหลอดเลือดดำลึกอุดตันเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (Deep Vein Thrombosis) ลิ่มเลือด และการมีเลือดคั่งจากการอุดตันกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด การอักเสบนี้จะทำลายลิ้นของหลอดเลือดดำ ทำให้ไม่สามารถควบคุมให้เลือดไหลกลับหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลือดจะคั่งจนความดันในหลอดเลือดดำสูงมาก ส่งผลให้ความเสื่อมของหลอดเลือดดำรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็แสดงอาการของภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังออกมา เช่น มีเลือดรั่วซึมออกไปสะสมในเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ผิวหนังสีคล้ำขึ้น มักพบรอบข้อเท้า เนื่องจากเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด มีความดันในหลอดเลือดดำสูงที่สุด ผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบจะอักเสบกลายเป็นแผลเรื้อรัง 

กลุ่มเสี่ยงภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

  • กรรมพันธุ์
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด

Chronic Venous Insufficiency

อาการภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง 

อาการภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) ขึ้นอยู่กับขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน แบ่งเป็น 7 ระยะ ได้แก่

  • ระยะ 0 มีอาการปวดขา ขาหนัก เมื่อยขา ชา ร้อน บวม เป็นตะคริวในเวลากลางคืน หน่วงตึงบริเวณเท้าและขาส่วนล่าง 
  • ระยะ 1 หลอดเลือดฝอยพองโตขึ้นคล้ายใยแมงมุม 
  • ระยะ 2 เส้นเลือดขอด หลอดเลือดดำโตขึ้น ขยายตัวทั้งยาวขึ้น ใหญ่ขึ้น คดเคี้ยว
  • ระยะ 3 เท้าและขาเริ่มบวม ขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • ระยะ 4 ผิวหนังเปลี่ยนสี แข็งกระด้าง เกิดรอยขาว โดยเฉพาะบริเวณเท้า รอบข้อเท้า และขาช่วงล่าง
  • ระยะ 5 แผลที่ผิวหนัง แผลเปื่อย แผลอักเสบ โดยเฉพาะแผลใกล้ตาตุ่มด้านนอก
  • ระยะ 6 เป็นแผลเรื้อรัง จากหลอดเลือดดำเสื่อม (Venous Ulcer) แผลมีขนาดใหญ่ บริเวณรอบข้อเท้า และติดเชื้อได้ 

สัญญาณเตือนภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

  • ปวดตึงน่อง เมื่อยืนหรือเดินนาน ๆ
  • เป็นตะคริว ขาชา หลอดเลือดฝอยพองโตหรือเส้นเลือดขอดร่วมด้วย
  • บวมแดงร้อน (คล้ายอาการปวดกล้ามเนื้อขาหรือกล้ามเนื้ออักเสบ แต่ไม่บวม) 
  • ผิวหนังที่ขาบวมแข็ง

แผลเรื้อรังจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

แผลเรื้อรังจากหลอดเลือดดำเสื่อม (Venous Ulcer) ที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรังต่างจากแผลเรื้อรังจากสาเหตุอื่น โดยมีลักษณะดังนี้

  • แผลมักอยู่บริเวณรอบตาตุ่ม พบบริเวณตาตุ่มด้านในมากกว่าตาตุ่มด้านนอก
  • แผลมีลักษณะตื้นและไม่ลึก
  • แผลมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เกิดขึ้นใหม่
  • ฐานของแผลมักมีสีแดง บางครั้งเห็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงตามพื้นแผล
  • แผลแฉะชุ่มเปียก 
  • ขอบแผลรุ่งริ่งมีสีดำโดยรอบ
  • ไม่ค่อยเจ็บแผลยกเว้นติดเชื้อ
  • ข้อเท้ามักบวมแข็ง 
  • ผิวหนังสีดำคล้ำ 

Chronic Venous Insufficiency


ตรวจวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

  • ตรวจร่างกายระบบหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
  • ตรวจการทำงานของลิ้นในหลอดเลือดดำ (Percussion Test)
  • ทดสอบความบกพร่องของลิ้นในหลอดเลือดดำ (The Tourniquet Test)
  • ตรวจสัญญาณสะท้อนการไหลของเลือด (Doppler Ultrasound)
  • Duplex Ultrasound การตรวจพิเศษโดยใช้คลื่นความถี่สูงค้นหาการไหลเวียนเลือดที่ผิดทิศทางและภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน เพื่อประเมินการทำงานของหลอดเลือดดำ และลิ้นหลอดเลือดดำ 
  • Plethysmography ตรววจหาการอุดตันของเลือดในหลอดเลือดดำ 
  • Venography ตรวจภาพเอกซเรย์หลอดเลือดดำโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อค้นหาความผิดปกติ 

รักษาภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

การรักษาภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่

  1. สวมถุงน่องทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดดำบกพร่อง การไหลเวียนของเลือดดำจะไม่ดีแม้ขณะเดิน ควรเพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยสวมถุงน่องหรือถุงเท้าทางการแพทย์ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำและเวลานอน เพื่อบีบเลือดที่คั่งอยู่ในหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นให้ไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำชั้นลึก ช่วยลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ลดการเกิดตะคริว ลดอาการปวดน่อง ลดการอักเสบของผิวหนัง เร่งการหายของแผลเรื้อรัง

    การสวมถุงน่องทางการแพทย์ที่ออกแบบให้มีการบีบรัดตามระดับที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ หมั่นขยับขาทั้งสองข้าง (ขยับนิ้วเท้าและเกร็งน่อง) ไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อขาและการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจได้ดี เช่น การว่ายน้ำ เต้นรำ หรือขี่จักรยาน ควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน นอนยกขาสูง สวมกางเกงที่ไม่รัดเกินไป นวดขาและเท้าบ่อย ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาบน้ำเย็นหรือประคบเย็นเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนหลอดเลือดดำและช่วยลดอาการปวดขา เป็นต้น ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้

  2. การรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังเฉพาะที่ แพทย์จะทำแผลเพื่อขจัดเนื้อเยื่อที่ตาย ป้องกันแผลติดเชื้อ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และผิวหนังมาปกคลุมแผล โดยเน้นเรื่องความสะอาดและไม่เกิดอันตรายกับบาดแผล มีการพันรัดเท้าและขาเพื่อช่วยลดการคั่งของเลือดทุกครั้ง
  3. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ แพทย์ตรวจหาตำแหน่งหลอดเลือดดำบกพร่องโดยใช้อัลตราซาวนด์ แล้วฉีดยาเข้าไปเฉพาะที่เพื่อไม่ให้เลือดดำไหลย้อนมาคั่งบริเวณแผลเรื้อรัง วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดและไม่เสียเวลาพักฟื้น โดยอาจมีการรับประทานยาเพื่อช่วยรักษาแผลหลอดเลือดดำเรื้อรังร่วมด้วย
  4. การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดซ่อมสร้างหลอดเลือดส่วนลึก เพื่อแก้ไขการไหลย้อนกลับของหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยมีอาการขาบวมอย่างรุนแรงและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการผ่าตัดเย็บซ่อมลิ้นของหลอดเลือดดำที่เสียให้ตึงขึ้น หรือผ่าตัดนำลิ้นที่ดีจากหลอดเลือดดำบริเวณแขนมาทดแทนลิ้นที่ถูกทำลายในหลอดเลือดดำส่วนขา หรือผ่าตัดเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดดำออก วิธีผ่าตัดดังกล่าวจะช่วยให้แผลหลอดเลือดดำเรื้อรังหายเร็วขึ้น ลดการเกิดแผลและการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่มากขึ้น ลดอาการปวดขาและขาบวม ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ความผิดปกติของหลอดเลือดดำหากปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ควรสังเกตความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ขาเป็นประจำหากมีเส้นเลือดขอดขาบวมผิวหนังเปลี่ยนสีหรือเป็นแผลที่หายช้าควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างเหมาะสมก่อนลุกลามยากเกินรักษา 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. วสุพงศ์ ศรีเดิมมา

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. วสุพงศ์ ศรีเดิมมา

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. ธำรงโรจน์ เต็มอุดม

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. ธำรงโรจน์ เต็มอุดม

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
นพ. กมล เรืองทอง

ศัลยศาสตร์

ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หลอดเลือด

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด