อ้วนเมื่อไรเสี่ยงเบาหวานเมื่อนั้น

2 นาทีในการอ่าน
อ้วนเมื่อไรเสี่ยงเบาหวานเมื่อนั้น

ปัญหาของผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วนส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ถึงร้อยละ 95 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานทั้งหมด และ 4 ใน 5 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็น “โรคอ้วน” โดยอาการของโรคที่ปรากฏมักไม่ค่อยรุนแรง แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและต้องเข้ารับการรักษาในระยะยาว ดังนั้นการตระหนักถึงโรคที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อมีภาวะอ้วนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจและดูแลตัวเองก่อนสายเกินแก้

 

ทำไมอ้วนแล้วเสี่ยงเบาหวาน

โรคอ้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เนื่องจากไขมันส่วนเกินภายในร่างกายจะถูกย่อยสลายเป็นกรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) กับกลูโคส และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อกลูโคสและกรดไขมันอยู่ในกระแสเลือดมากจนเกินไปจะส่งผลให้ตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินเพื่อช่วยดูดซึมน้ำตาลในเลือดที่เข้าสู่ร่างกายต้องผลิตอินซูลินมากขึ้น ทำให้ตับอ่อนทำงานหนักมากขึ้นและถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งตับอ่อนทำงานไม่ไหว ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในที่สุด

 

ระวังอย่าให้อ้วนลงพุง

ภาวะอ้วนลงพุงหรือภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวกับเมแทบอลิซึมในร่างกาย โดยเซลล์ไขมันบริเวณช่วงเอวหรือช่วงท้องมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีลักษณะอ้วนตรงกลางลำตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกับการมีระดับไขมันดี HDL – C (High – Density Lipoprotein Cholesterol) ลดลงและระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เพิ่มขึ้น ทำให้กลไกการเผาผลาญน้ำตาลผิดปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น

โดยผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงจะมีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • รอบเอว ผู้ชายมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร ผู้หญิงมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร
  • ระดับไขมันดี HDL – C ในเลือด ผู้ชายต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ผู้หญิงต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
  • ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
  • ระดับความดันโลหิต มากกว่าหรือเท่ากับ 130 / 85 มิลลิเมตรปรอท
  • ระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมัน ระดับความดันโลหิต และรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติคือสิ่งสำคัญ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดความปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

3 อ. ทำได้ไกลอ้วน

การป้องกันและรักษาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  1. อาหาร ลด ละ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
  2. ออกกำลังกาย เป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  3. อารมณ์ บริหารความเครียด ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้คงที่

 

ผ่าตัดลดน้ำหนักแก้เบาหวาน

ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคอ้วนและมีโรคเบาหวานแทรกซ้อน หากไม่สามารถลดน้ำหนักเองได้ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้โรคเบาหวานทุเลาลงและหายขาดได้ เนื่องจากช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักและปริมาณอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน ส่งผลให้สามารถลดน้ำตาลสะสมได้ บางรายสามารถลดและหยุดยาเบาหวานได้หรือถึงขั้นหายขาดได้ ถ้าผู้ป่วยคุมน้ำตาลสะสมได้น้อยกว่า 6.0 – 6.5% ติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีโดยไม่ต้องใช้ยาเบาหวานเลยถือว่าเบาหวานหายขาด และจากข้อมูลในการติดตามผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการผ่าตัดลดน้ำหนักไป 1 – 5 ปีพบว่า โรคเบาหวานจะหายขาดได้ถึง 30 – 63% หลังผ่าตัดลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานให้มีอัตราการเสียชีวิตลดลง

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด