ปัจจุบันแนวโน้มและสถานการณ์โรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วน 1 ต่อ 3 คน ในปี 2017 มีผู้เป็นโรคอ้วน 2,200 ล้านคน โดยผู้ชายเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในขณะที่ผู้หญิงเพิ่มขึ้น 2 เท่า สำหรับในประเทศไทยเองก็มีอัตราเพิ่มสูงมากขึ้นเช่นกัน ดูได้จากสถิติผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทยที่สูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย คิดเป็น 16 ล้านคนที่เป็นโรคอ้วน แบ่งเป็นผู้ชาย 4.7 ล้านคนและผู้หญิง 11.3 ล้านคน
ภาวะโรคอ้วน
ภาวะโรคอ้วนเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้คนที่เสี่ยงให้เกิดโรคอ้วน เช่น
- การเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากเกินไป ทั้งเบเกอรี่ ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำหวานชง น้ำอัดลม ฯลฯ
- การรับประทานอาหารไม่ครบหมวดหมู่
- รับประทานอาหารฟาสต์ฟูดบ่อยครั้งจากภาวะที่เร่งรีบในชีวิตประจำวันหรือติดรสชาติความอร่อยของอาหารเหล่านี้จนกลายเป็นความเคยชินในการเลือกรับประทาน
- ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพียงพอ
- การลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนักแบบไม่ถูกวิธีที่ทำให้กลับมาประสบปัญหาอ้วนมากกว่าเดิม
- บางรายอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์
- อื่น ๆ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายโรคอ้วน (Obesity)
น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น แขนขาใหญ่ขึ้น ลงพุง รับประทานมากเท่าไรก็รู้สึกว่ายังไม่อิ่ม กรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการเหล่านี้อาจไม่ได้บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคอ้วนเสมอไป
โรคอ้วนสามารถบ่งชี้ได้ด้วยการวัดค่าดัชนีมวลกายและปริมาณไขมันสะสมในร่างกาย โดยค่าที่เกินมาตรฐานอาจหมายถึงภาวะผิดปกติที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ร่วมด้วย
(คำนวณดัชนีมวลกายได้ที่ คลิก! ‘โปรแกรมคำนวณหาค่าดัชนีมลกาย‘)
คนอ้วนเสี่ยงเป็นโรคอะไร
โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจมาพร้อมกับโรคอ้วน บางโรคอาจจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจน ในขณะที่บางโรคก็อาจไม่แสดงอาการภายนอกแต่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
- ไขมันพอกตับ
การรับประทานอาหารมากเกินไป เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไขมันก่อตัวขึ้นในตับ เมื่อตับไม่ได้นำไขมันไปใช้หรือย่อยสลายอย่างที่ควรจะเป็นก็อาจเกิดการสะสมไขมันขึ้น โดยร้อยละ 20 ของคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีโรคไขมันพอกตับร่วมอยู่ด้วย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน มักมีไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ผนังลำคอจึงหนาและมีลักษณะลำคอหดสั้นมากขึ้น ช่องลำคอจึงแคบลง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคอ้วนมักทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง เนื่องจากระดับของไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันสะสมในร่างกายสูงกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดหนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อย จนเกิดหลอดเลือดอุดตันในที่สุดและอาจพัฒนากลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
- กรดไหลย้อน
ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีความดันในช่องท้องและความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น ทำให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยในกระเพาะอาหารไหลทวนย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร เกิดเป็นโรคกรดไหลย้อนได้
- ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ด
ภาวะไอ จาม ปัสสาวะเล็ดเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน สามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะผิดปกติของร่างกายด้านต่าง ๆ รวมถึงโรคอ้วนด้วย เมื่อขาดตัวช่วยพยุงท่อปัสสาวะเมื่อเวลาไอหรือจาม ท่อปัสสาวะเปิดตัวทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมา
- ประจำเดือนผิดปกติ
ในสตรีที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติและมีภาวะอ้วนอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เนื่องจากในคนอ้วนผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- โรคเบาหวาน
น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือความอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งของความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน เนื่องจากในผู้ป่วยโรคอ้วน อินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อนอาจออกฤทธิ์ไม่ดี และส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เนื้อเยื่อตอนปลายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง เบตาเซลล์ไม่ทำงาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบการเผาผลาญ (Metabolic Syndrome)
- โรคข้อเสื่อม
ในการเดินของคนอ้วนแต่ละก้าวจะเกิดเเรงกดกระแทกที่ข้อเข่ามากกว่าคนไม่อ้วน อีกทั้งข้อเข่าที่มีเนื้อเยื่อไขมันมาก ๆ จะล้นไปกดเเละทำลายผิวกระดูกอ่อนที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นการเร่งให้เกิดโรคข้อเสื่อมเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโรคและภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย โดยโรคเหล่านี้อาการมักจะทุเลาหรืออาจดีขึ้นเมื่อมีน้ำหนักตัวลดลง ดังนั้นควรดูแลใส่ใจในเรื่องของโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้คงที่สม่ำเสมอ พร้อมการออกกำลังกายเป็นประจำ หากทำทุกวิธีการที่แนะนำมานี้แล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อร่วมหาแนวทางและวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งการผ่าตัดกระเพาะก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกาย
ดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อน
- ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน โภชนาการ ควบคุมอาหาร ลดแป้ง เน้นผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มวิตามินและกากใยไฟเบอร์ให้ร่างกาย
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน เพราะน้ำจะช่วยขับสารพิษ รักษาสมดุล และอุณหภูมิที่เหมาะสมของร่างกาย
- เลือกวิธีปรุงอาหารแบบ ต้ม นึ่ง ย่างมากกว่าการทอดหรือผัด
- ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์สูง เช่น น้ำอัดลม (1 กระป๋องมีน้ำตาล 7 – 12 ช้อนชา) และเครื่องดื่มชาเขียว (1 ขวดมีน้ำตาล 8 – 14 ช้อนชา)
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยและไม่ควรหักโหมจนเกินไป สำหรับผู้มีน้ำหนักมากเลี่ยงกีฬาหรือการออกกำลังที่ทำให้เกิดการกระแทกของข้อเท้า ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บได้ เปลี่ยนเป็นการเดินช้า ๆ โยคะ หรือว่ายน้ำ
- นอนหลับพักผ่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 22.00 – 06.00 น. โดยหลับสนิทติดต่อกันนาน เพราะการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ จะทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเสียสมดุล
- เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นในแต่ละวัน เริ่มง่าย ๆ ด้วยการแกว่งแขน ทำท่ากายบริหารง่าย ๆ เดินเล่นในสวน ขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ จัดตารางการออกกำลังกายส่วนตัวที่ต้องทำสม่ำเสมอ
- หากทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่สามารถลดความอ้วนได้ ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เช่น การผ่าตัดกระเพาะในรูปแบบต่าง ๆ ที่นอกจากรักษาโรคอ้วนแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย