อาหารชะลอไตเสื่อมที่ควรต้องรู้

3 นาทีในการอ่าน
อาหารชะลอไตเสื่อมที่ควรต้องรู้

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เมื่อไตทำงานลดลง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดการเสื่อมสภาพลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นหัวใจสำคัญในการชะลอไตวายเรื้อรัง  ช่วยควบคุมอาการและดูแลไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป

ทำไมผู้ป่วยไตต้องคุมอาหาร

การได้รับอาหารที่เหมาะสมดีต่อผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น

  • ชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด
  • ยืดระยะเวลาที่ต้องฟอกเลือดออกไป
  • ลดการคั่งของของเสียในเลือดที่นำไปสู่การเสียชีวิต
  • ป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • ป้องกันการขาดสารอาหาร
  • รักษาภาวะโภชนาการของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี

อาหารชะลอไตเสื่อมที่ควรต้องรู้

กินให้ถูกเมื่อไตเสื่อม

โรคไตเรื้อรังในเเต่ละระยะมีความต้องการสารอาหารแตกต่างกันจึงควรได้รับการดูเเลอย่างใกล้ชิดเพื่อชะลอการเสื่อมของไต โดยระมัดระวังการกินอาหารใน 6 กลุ่มต่อไปนี้

1) เนื้อสัตว์ 

  • แหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่าและเกิดของเสียคั่งในเลือดน้อยกว่าโปรตีนจากพืช 
  • หากรับประทานโปรตีนมากเกินไปจะส่งผลเสีย ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นเเละเกิดการคั่งของของเสีย 
  • หากรับประทานโปรตีนน้อยเกินไปอาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันเเย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตได้ 
  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรได้รับคำเเนะนำจากทีมโภชนาการเพื่อเลือกรับประทานเนื้อสัตว์อย่างเหมาะสม

2) ข้าวเเละแป้ง

  • แหล่งพลังงานสำคัญในผู้ป่วยโรคไตเสื่อม ถ้าร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอจะช่วยป้องกันการสลายของมวลกล้ามเนื้อได้ดี 
  • อาหารกลุ่มแป้งมีโปรตีนในปริมาณที่เเตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสื่อมระยะ 3 – 5 จำกัดการรับประทานโปรตีนได้ยาก ผู้ป่วยควรได้รับความรู้ในการเลือกกลุ่มเเป้งที่ถูกต้องและการเลือกใช้แป้งปลอดโปรตีนอย่างเหมาะสม เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ และสาคู เพื่อให้การรักษาโรคไตเสื่อมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3) ไขมัน 

  • เลือกไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (ไขมันอิ่มตัวสูงพบในมันและหนังสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ เป็นต้น)
  • รับประทานไขมันที่ดีต่อหัวใจ ได่เเก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

4) ผักและผลไม้ 

  • เเหล่งเเร่ธาตุที่มีความสำคัญมาก เเต่เมื่อไตสูญเสียความสามารถในการรักษาสมดุลเกลือเเร่บางตัว การเลือกรับประทานผักผลไม้ที่มีเเร่ธาตุต่ำจึงมีความสำคัญต่อการรักษาอย่างมาก 
  • ชนิดของผักและผลไม้ที่ควรเลือกรับประทานขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียม เเมกนีเซียม เเคลเซียม เเละโซเดียมในเลือดขณะนั้น 
  • การรับประทานผักและผลไม้ที่เหมาะสมช่วยลดการใช้ยาขับเเร่ธาตุเเละยืดระยะเวลาที่ต้องฟอกเลือดออกไป

5) เกลือ 

  • แหล่งของโซเดียม 
  • การรับประทานเกลือมากเกินไป ทำให้ได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น ความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดภาวะบวมน้ำ จึงควรจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา โดยทั่วไปอาหารตามธรรมชาติที่ไม่ปรุงรสจะมีโซเดียมอยู่แล้วจึงไม่ควรรับประทานเกลือหรือซอสปรุงรสต่าง ๆ ที่มีโซเดียมเกินวันละ 1,000 – 1,200 มิลลิกรัม (ตัวอย่างเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียม 400 มิลลิกรัม เช่น เกลือ 1/4 ช้อนชา, น้ำปลา 1 ช้อนชา, ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา,  ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ, ซอสมะเขือเทศหรือซอสพริก 2 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น)

6) น้ำ

  • ผู้ที่ไตขับปัสสาวะได้ลดลงมีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มเพื่อป้องกันภาวะบวมน้ำเเละน้ำท่วมปอด 
  • ปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันจะนับรวมถึงอาหารทุกชนิดที่เป็นของเหลวเเละเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ซุป น้ำผลไม้ น้ำผัก เป็นต้น

เพราะไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ที่ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ในเดือนมีนาคมของทุกปี อยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรคไตและป้องกันโรคไตด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ตรวจคัดกรองไตอย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์ตามนัดหมายและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ข้อมูล : นักกำหนดอาหาร ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลกรุงเทพ

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคไต

ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด