โรคกรดไหลย้อน

2 นาทีในการอ่าน
โรคกรดไหลย้อน

คนไทยคุ้นเคยกับโรคกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอาการเรอเปรี้ยวหรือมีรสขมในปาก ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน ปวดบริเวณหน้าอก ก็จะคิดไว้ก่อนว่านั่นเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร

โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการหรือผลแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้


ใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนจะพบได้มากในทุกกลุ่มอายุ แต่ที่พบมากและมักจะมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มคนอ้วน ยิ่งกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น


อาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างไร

อาการของโรคกรดไหลย้อนแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม อาการดังนี้

  1. อาการของหลอดอาหาร อาการสำคัญ ได้แก่ อาการแสบร้อนหน้าอกและมีการขย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หน้าท้องและคอ ซึ่งอาจมีรสเปรี้ยวหรือขมได้
  2. อาการนอกหลอดอาหาร ได้แก่ อาการของกล่องเสียง ปอด เช่น เสียงแหบ, กระแอม, ไอเรื้อรัง, เจ็บคอจากหลอดลมอักเสบ, อาการหืดหอบ และโรคพังผืดในปอด

symptoms-of-GERD

โรคกรดไหลย้อนส่งผลอะไรต่อร่างกาย

อาการของโรคกรดไหลย้อนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรือทำให้เกิดผลแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบ หรือมีอาการเรื้อรังจากอาการนอกหลอดอาหารที่เกิดจากกรดไหลย้อน ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะคนชาติตะวันตกอาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนเป็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Barrett’s esophagus) จนอาจกลายเป็นมะเร็งมะเร็งหลอดอาหารได้ ซึ่งพบได้ไม่มาก


โรคกรดไหลย้อนรุนแรงแค่ไหน

ภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด คือ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง หรือนาน ๆ เป็นทีแล้วก็หายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่มีอาการอะไรที่รบกวนสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux – GER)
  • ระดับที่ 2 คือ เกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร มีอาการที่รบกวนสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD) 
  • ระดับที่ 3 คือ เกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรง คือ ไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ อย่างนี้เรียกว่า โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (Laryngopharyngeal Reflux – LPR)

ตรวจวินิจฉัยกรดไหลย้อนอย่างไร

การตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนไม่แนะนำให้ใช้วิธีส่องกล้อง ยกเว้นในรายที่มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระสีดำ เพราะการส่องกล้องจะวินิจฉัยได้เพียง 10 – 30% เท่านั้น หากรักษาด้วยการใช้ยารักษา ซึ่งใช้ดีที่สุดในกลุ่มคนไข้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหาร หากให้ยาแล้ว 2 สัปดาห์อาการดีขึ้นก็ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน


แนวทางการรักษากรดไหลย้อน

การปรับพฤติกรรมการกินการนอนสามารถช่วยรักษากรดไหลย้อนได้ 20% แต่หากใช้ยาในการรักษาจะหายได้ 80 – 100% คนไทยจะพบโรคนี้ประมาณ 7.4% ซึ่งมากกว่าเบาหวาน ซึ่งจะพบแค่ 4% ของประชากรเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโรคนี้ประมาณ 40% จะไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็จะใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการผูกหูรูดกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อน แต่การผ่าตัดต้องใช้ฝีมือศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น


แพทย์ที่ชำนาญการรักษากรดไหลย้อน

นพ.สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษากรดไหลย้อน

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

นพ. สุริยะ จักกะพาก

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล