คนไทยคุ้นเคยกับโรคกระเพาะอาหาร เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอาการเรอเปรี้ยวหรือมีรสขมในปาก ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน ปวดบริเวณหน้าอก ก็จะคิดไว้ก่อนว่านั่นเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)
โรคกรดไหลย้อนคืออะไร
โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการหรือผลแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้
ใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนจะพบได้มากในทุกกลุ่มอายุ แต่ที่พบมากและมักจะมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มคนอ้วน ยิ่งกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
อาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างไร
อาการของโรคกรดไหลย้อนแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม อาการดังนี้
- อาการของหลอดอาหาร อาการสำคัญ ได้แก่ อาการแสบร้อนหน้าอกและมีการขย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หน้าท้องและคอ ซึ่งอาจมีรสเปรี้ยวหรือขมได้
- อาการนอกหลอดอาหาร ได้แก่ อาการของกล่องเสียง ปอด เช่น เสียงแหบ, กระแอม, ไอเรื้อรัง, เจ็บคอจากหลอดลมอักเสบ, อาการหืดหอบ และโรคพังผืดในปอด
โรคกรดไหลย้อนส่งผลอะไรต่อร่างกาย
อาการของโรคกรดไหลย้อนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรือทำให้เกิดผลแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบ หรือมีอาการเรื้อรังจากอาการนอกหลอดอาหารที่เกิดจากกรดไหลย้อน ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะคนชาติตะวันตกอาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนเป็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Barrett’s esophagus) จนอาจกลายเป็นมะเร็งมะเร็งหลอดอาหารได้ ซึ่งพบได้ไม่มาก
โรคกรดไหลย้อนรุนแรงแค่ไหน
ภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด คือ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง หรือนาน ๆ เป็นทีแล้วก็หายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่มีอาการอะไรที่รบกวนสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux – GER)
- ระดับที่ 2 คือ เกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร มีอาการที่รบกวนสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD)
- ระดับที่ 3 คือ เกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรง คือ ไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ อย่างนี้เรียกว่า โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (Laryngopharyngeal Reflux – LPR)
ตรวจวินิจฉัยกรดไหลย้อนอย่างไร
การตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนไม่แนะนำให้ใช้วิธีส่องกล้อง ยกเว้นในรายที่มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระสีดำ เพราะการส่องกล้องจะวินิจฉัยได้เพียง 10 – 30% เท่านั้น หากรักษาด้วยการใช้ยารักษา ซึ่งใช้ดีที่สุดในกลุ่มคนไข้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหาร หากให้ยาแล้ว 2 สัปดาห์อาการดีขึ้นก็ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
แนวทางการรักษากรดไหลย้อน
การปรับพฤติกรรมการกินการนอนสามารถช่วยรักษากรดไหลย้อนได้ 20% แต่หากใช้ยาในการรักษาจะหายได้ 80 – 100% คนไทยจะพบโรคนี้ประมาณ 7.4% ซึ่งมากกว่าเบาหวาน ซึ่งจะพบแค่ 4% ของประชากรเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโรคนี้ประมาณ 40% จะไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็จะใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการผูกหูรูดกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อน แต่การผ่าตัดต้องใช้ฝีมือศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
แพทย์ที่ชำนาญการรักษากรดไหลย้อน
นพ.สุริยะ จักกะพาก ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษากรดไหลย้อน
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ พยาบาล และทีมสหสาขา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ