HMPV โรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัสเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัยจึงควรต้องรู้เท่าทัน เพราะสามารถระบาดได้ทุกเวลา พบมากในช่วงอากาศเย็นและอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบหรือปอดบวมได้ ซึ่งอาการของโรคคล้ายกับไข้หวัดใหญ่และ RSV แต่รุนแรงน้อยกว่า และไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
HMPV คืออะไร
HMPV คือ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (Human Metapneumovirus) เป็นไวรัสในตระกูล Pneumoviridae ซึ่งรวมถึงเชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus) ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อ HMPV ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2001 และปัจจุบันตรวจพบได้มากขึ้นจากการตรวจวินิจฉัยทางโมเลกุล
HMPV อาการเป็นอย่างไร
อาการของ HMPV จะคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ประมาณ 3 – 6 วัน และระยะเวลาการเจ็บป่วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ได้แก่
- ไอ
- ไข้
- คัดจมูก
- หายใจลำบาก
- หากรุนแรงอาจลุกลามไปสู่โรคหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบได้
HMPV แพร่กระจายอย่างไร
HMPV มักแพร่กระจายช่วงเดียวกับเชื้อ RSV และไข้หวัดใหญ่ โดยแพร่กระจายผ่านทาง
- ละอองฝอยจากการไอหรือจาม
- การสัมผัสใกล้ชิด เช่น การจับมือ เป็นต้น
- การสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำมือไปสัมผัสตา จมูก หรือปาก
กลุ่มเสี่ยง HMPV คือใคร
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือเบาหวาน ฯลฯ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ HIV ฯลฯ
ตรวจวินิจฉัย HMPV ได้อย่างไร
การตรวจวินิจฉัย HMPV สามารถตรวจได้ในช่วงฤดูที่มีการระบาดของ HMPV ได้แก่
- การตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัส (NAAT) – PCR
- การตรวจหาโปรตีนของไวรัสจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ (Swab Test for Antigen)
รักษา HMPV ได้อย่างไร
ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่เฉพาะสำหรับ HMPV การรักษาจึงเน้นบรรเทาอาการ เช่น
- การให้ยาลดไข้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ดูแลระบบทางเดินหายใจ เช่น การให้ออกซิเจนในกรณีรุนแรง เป็นต้น
ผู้ป่วย HMPV ดูแลตนเองอย่างไร
- ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม
- ไม่ใช้แก้วหรือช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีโอกาสปนเปื้อน เช่น ลูกบิดประตู เป็นต้น
ป้องกัน HMPV ได้อย่างไร
แม้จะไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับ HMPV แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าโดยไม่ล้างมือ
- เลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย HMPV
เชื้อ HMPV ทำให้เป็นปอดอักเสบได้อย่างไร
หากร่างกายได้รับเชื้อไวรัส HMPV ผ่านทางระบบทางหายใจ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการอักเสบทำลายเนื้อเยื่อ เกิดอาการผิดปกติและรุนแรงจนปอดอักเสบได้
วัคซีนป้องกันเชื้อ HMPV มีหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส HMPV เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย ห้ามใช้มือแคะจมูกหรือนำมือเข้าปาก ล้างมือให้บ่อยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส
HMPV ต่างจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นอย่างไร
โรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (HMPV) ต่างจากไข้หวัดใหญ่ (Influenza), RSV, โควิด (COVID-19) และไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) ดังนี้
โรคระบบทางเดินหายใจ |
HMPV |
ไข้หวัดใหญ่ |
RSV |
โควิด-19 |
ไข้หวัดทั่วไป |
การติดเชื้อ |
เชื้อไวรัสจากตระกูล Paramyxoviridae คล้าย RSV |
เชื้อไวรัส Influenza A/B |
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง |
เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 |
เชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น Rhinovirus |
กลุ่มเสี่ยง |
พบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ |
ทุกเพศทุกวัย |
อันตรายต่อเด็กเล็กและผู้สูงอายุ |
ทุกเพศทุกวัย |
ทุกเพศทุกวัย |
อาการ |
ไข้ ไอ หายใจลำบาก คล้าย RSV แต่รุนแรงน้อยกว่า |
ไข้สูง ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ไอ |
ไอ หายใจลำบาก หลอดลมอักเสบ |
ไข้ ไอ เจ็บคอ สูญเสียการรับรส การได้กลิ่น |
น้ำมูกไหล จาม ไอ เจ็บคอ |
การแพร่ระบาด |
ระบาดตามฤดูกาล |
ระบาดตามฤดูกาล |
ระบาดตามฤดูกาล |
แพร่เร็วและมีผลต่อระบบอวัยวะอื่น |
สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ |
วัคซีนป้องกัน |
ไม่มีวัคซีนป้องกัน |
มีวัคซีนป้องกัน |
มีวัคซีนป้องกัน |
มีวัคซีนป้องกัน |
ไม่มีวัคซีนป้องกัน หายได้เอง |
เพราะ HMPV เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะจึงควรป้องกันด้วยการล้างมือ สวมหน้ากาก และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจาก HMPV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรงพยาบาลที่พร้อมดูแลรักษา HMPV
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษา HMPV โรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัสด้วยแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงในทุกวัน
แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษา HMPV
นพ.ชยพล ชีถนอม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง