ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

5 นาทีในการอ่าน
ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matters) ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นและยากที่จะหลีกเลี่ยง เมื่อสูดเข้าไปแล้วนอกจากลงลึกถึงปอด ทางเดินหายใจ และกระแสเลือด ยังส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรัง ทำร้ายสุขภาพได้มากกว่าที่คิด 

 

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่น PM 2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ทำให้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งมีปริมาณมากยิ่งเหมือนหมอกหรือควันมาปกคลุม ที่น่ากังวลคือฝุ่น PM 2.5 ลอดผ่านทุกการป้องกันของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ขนจมูก เยื่อหลอดลม เซลล์ในถุงลมปอด กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

ค่าฝุ่น PM 2.5 ระดับไหนที่อันตราย

ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจะใช้ค่าฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศ โดยเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 

ค่าฝุ่น PM 2.5 (ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร)

ระดับ

ลักษณะสภาพอากาศ / ผลกระทบต่อสุขภาพ

0 – 25

ดีมาก

สภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ปกติ

26 – 37

ดี

สภาพอากาศดี กลุ่มเสี่ยงต้องระวังทำกิจกรรม

38 – 50

ปานกลาง

สภาพอากาศปานกลาง เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง

51 – 90

แย่

สภาพอากาศแย่ ไม่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เริ่มกระทบต่อสุขภาพ

91 ขึ้นไป

แย่มาก

สภาพอากาศแย่มาก งดกิจกรรมกลางแจ้ง กระทบต่อสุขภาพ

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร 

  • ระบบทางเดินหายใจ ฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ ส่งผลให้แพ้สารก่อภูมิแพ้เดิมไวขึ้นและแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่เพิ่มขึ้น มีทั้งการอักเสบแบบเฉียบพลันและการอักเสบแบบเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด สำหรับผู้ที่โพรงจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หอบหืดจากภูมิแพ้ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรังจากภูมิแพ้ สามารถฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เพื่อให้อาการแพ้ลดลงและมีโอกาสหายแพ้ในระยะยาว
  • ปอด ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปลึกถึงชั้นในสุดของปอด เมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 สะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรังและมะเร็งปอดได้ ซึ่งมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) มีความสัมพันธ์กับฝุ่น PM 2.5 โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหากสูดฝุ่น PM 2.5 จะเสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจึงควรเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุด หรือหลายคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอด ส่วนหนึ่งเกิดจากมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน  ซึ่งคนไทยได้รับมลพิษ PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 
    นอกจากนี้สามารถตรวจประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งด้วยชุดตรวจหาสารพันธุกรรม เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งที่อาจได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ได้ทั้งในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคมะเร็ง และผู้ที่ต้องการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง
  • สมอง ฝุ่น PM 2.5 สามารถซึมผ่านเส้นเลือด เส้นประสาทในโพรงจมูก และเข้าไปยังสมองโดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบในสมอง เซลล์สมองบาดเจ็บ ส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม เร็วขึ้น ในผู้ใหญ่เสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น รวมถึงในผู้ที่เป็นไมเกรนอาจทำให้ปวดหัวรุนแรงจนต้องพบแพทย์ทันที
  • หัวใจ ฝุ่น PM 2.5 ถ้าร่างกายได้รับปริมาณมากสามารถทำให้เกิดการอักเสบระดับเซลล์และส่งผลต่อเยื่อบุหลอดเลือด กระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดในอนาคตได้ หากมีความเสี่ยงโรคหัวใจควรสังเกตตัวเองและพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหัวใจ 
  • ผิวหนัง ฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังผ่านรูเปิดของขนหรือผมจึงมีผลกระทบต่อผิวหนังโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ กระตุ้นกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง มีผื่นคัน ยิ่งถ้าผิวหนังไม่ปกติ เป็นโรคภูมิแพ้หรือผื่นผิวหนังอักเสบจะยิ่งระคายเคืองและกำเริบมากขึ้น หากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานยิ่งเสี่ยงต่อผิวเสื่อมก่อนวัย
  • ดวงตา เมื่อฝุ่น PM 2.5 จับกับเปลือกตา เยื่อบุตา หรือกระจกตาจะกระตุ้นการอักเสบเพิ่มขึ้น ทำลายชั้นฟิล์มน้ำตาและเยื่อบุพื้นผิวตา ก่อให้เกิดอาการและโรคตาต่าง ๆ อาทิ ตาแห้ง แสบตา รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา, ตาแดง เยื่อบุตาขาวอักเสบ เคืองตามาก น้ำตาไหล, เปลือกตาอักเสบ ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน, กระจกตาอักเสบ ผิวกระจกตาอ่อนแอ เป็นแผลถลอกได้ง่าย ปวดตา ตามัวลง เป็นต้น

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

อาการที่อาจเกิดจากฝุ่น PM 2.5

  • หายใจติดขัด ระคายเคืองโพรงจมูก
  • ไอ น้ำมูก จาม
  • หอบเหนื่อย
  • คัน ผื่นแดงตามผิวหนัง 
  • แสบตา ระคายเคืองตา 
  • ตาแดง คันตา น้ำตาไหล

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

กลุ่มเสี่ยงต้องระวังฝุ่น PM 2.5

  • เด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 จึงเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่าย ยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปียิ่งอันตราย นอกจากทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง เสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ ที่น่าเป็นห่วงคือ ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปทำให้เซลล์สมองเสียหาย นำไปสู่พัฒนาการช้า สมาธิสั้น และไอคิวต่ำ 
  • หญิงตั้งครรภ์ ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอย่างภูมิแพ้และหอบหืด โอกาสที่โรคกำเริบสูงมาก ทั้งยังเสี่ยงแท้งบุตร นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้ทารกในครรภ์โตช้า เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด มีความพิการแรกคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วเสี่ยงน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยบ่อย
  • ผู้สูงอายุ ร่างกายเกิดความเสื่อม มักป่วยง่ายและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากสูดหายใจฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากส่งผลให้เกิดการสะสมตามหลอดเลือด เสี่ยงต่อหลอดเลือดตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หากสะสมในปอดเสี่ยงต่อถุงลมโป่งพอง หอบหืด มะเร็งปอด ยิ่งถ้าเข้าไปสะสมในสมองจะส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมก่อนเวลาอันควร
  • ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคสมอง หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานและปริมาณมากย่อมทำให้โรคกำเริบและอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ จึงควรใส่ใจดูแลและสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

นอกจากนี้ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งและผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ค่าพุ่งสูงเกินมาตรฐาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมปอด ซึมผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ออกซิเจนในร่างกายลดลง ปอดและหัวใจทำงานหนัก ควรอยู่ในบ้านหรือสถานที่ร่มแทน และหากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์โดยเร็ว

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

วิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5

  • สวมหน้ากาก N95 เมื่ออยู่กลางแจ้ง เพราะช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 และอนุภาคขนาดเล็กได้มากถึง 95% ยิ่งในช่วงที่มีค่า PM2.5 สูงหรือสถานที่ที่มลพิษสูง หน้ากาก N95 ช่วยป้องกันได้ดีที่สุด ควรเลือกหน้ากากให้แนบสนิทกับใบหน้า ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก มีสายรัดกระชับเพื่อไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามา ที่สำคัญเปลี่ยนหน้ากากเสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน
  • เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 ค่าสูงจนเป็นอันตราย ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่จำเป็น ปิดหน้าต่างให้มิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากาก N95 และเลี่ยงการอยู่บริเวณริมถนนที่มีการก่อสร้างเพราะมลพิษสูง
  • ลดหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 สูง หากต้องการออกกำลังกายควรเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดินช้า ๆ แทนเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอด
  • เดินทางด้วยยานพาหนะที่ลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถตู้ เรือโดยสารประจำทาง รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้เชื้อเพลิง CNG (Compressed Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติอัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แนะนำให้ใช้รถโดยสารสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดการปล่อย PM 2.5 
  • เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ทุกวันก่อนออกจากบ้านเพื่อจะได้ดูแลตนเองอย่างเหมาะสม อาทิ AirVisual, Air4Thai, AQICN (Air Quality Index), Air Matters, Airveda เป็นต้น

ผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

ท่ามกลางการใช้ชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 การดูแลตนเองและหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจติดขัด ควรรีบพบแพทย์ทันที

โรงพยาบาลที่พร้อมดูแลรักษาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลรักษาผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 โดยแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงใช้ชีวิตอย่างมั่นใจในทุกวัน

แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

นพ.ชยพล ชีถนอม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด