เมื่อไรที่เสียงแหบ (Hoarseness) ไม่เพียงแต่ระดับสูงต่ำของเสียงเปลี่ยน หรือคุณภาพของเสียงเปลี่ยนไป แต่ยังเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติของเส้นเสียงในกล่องเสียงที่ควรต้องดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะกลายเป็นอาการเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบกับร่างกายในระยะยาว
วิธีการเปล่งเสียง
ก่อนจะรู้ว่าเสียงแหบเกิดจากสาเหตุใด การทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเปล่งเสียงคือพื้นฐานสำคัญ การเปล่งเสียงเกิดจากอากาศจากปอดไหลผ่านหลอดลมขึ้นมาที่กล่องเสียง ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเยื่อบุภายในกล่องเสียงร่วมกับการขยับของเส้นเสียง ทำให้เกิดเสียง เมื่อเสียงผ่านมายังคอหอยจะเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณคอหอย โคนลิ้น จากนั้นลิ้น ฟัน ริมฝีปากจะเกิดการขยับเกิดเป็นคำพูดขึ้นมาตามที่ต้องการ
หน้าที่ของกล่องเสียง
- เป็นทางผ่านของลมหายใจ ทั้งลมหายใจเข้าและออก
- เปล่งเสียง กล่องเสียงช่วยในการสื่อสารและออกเสียงพูด
- ป้องกันการสำลักอาหารในขณะกลืน ทำให้หลอดลมและปอดไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอาหารที่อาจตกลงไปในทางเดินหายใจ
- ช่วยในการไอเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค หรือเสมหะหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ ซึ่งกล่องเสียงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการไอ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่องเสียงทำงานผิดปกติจะส่งผลเสียอีกมากมายตามมา
เสียงแหบเกิดจาก
- การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อหวัด เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียที่กล่องเสียง
- การอักเสบบวมช้ำของเส้นเสียง จากการตะโกน ตะเบ็ง ตะคอก เค้นเสียง ฯลฯ
- อุบัติเหตุกระทบกระเทือนกล่องเสียง เช่น ทำร้ายร่างกายด้วยการบีบคอ, อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่คอไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือกระเด็นออกไปนอกรถ, การใส่ท่อช่วยหายใจขณะดมยาสลบ ฯลฯ
- เนื้องอกที่เส้นเสียงและกล่องเสียง
- มะเร็งกล่องเสียง
- โรคของกล้ามเนื้อและระบบประสาทบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน เป็นต้น
- สูดสารพิษต่าง ๆ ที่เข้าไประคายเคืองกล่องเสียง
- โรคอื่น ๆ ที่มีผลกับเสียง เช่น กรดไหลย้อนจากกระเพาะขึ้นมาที่คอไประคายเคืองกล่องเสียง ภูมิแพ้ ไอเรื้อรัง
อาการแบบนี้ต้องพบแพทย์
- เสียงแหบติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ดูแลตัวเองแล้วก็ยังไม่หาย
- เสียงแหบแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- เสียงแหบมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิน 7 วัน จนแทบไม่มีเสียง และสื่อสารไม่ได้
- เสียงแหบและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เสียงแหบเรื้อรัง ไอเป็นเลือด สำลัก กลืนลำบาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หายใจติดขัด
- เสียงแหบในคนที่ดื่มสุราเป็นประจำ
- เสียงแหบและหอบในคนที่สูบบุหรี่
การรักษาเสียงแหบ
การรักษาเส้นเสียงประกอบไปด้วย
- การใช้ยา
- การดื่มน้ำมาก ๆ
- พักการใช้เสียง พูดน้อย ๆ เบา ๆ ไม่พูดนาน
- งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
การปฏิบัติตัวตามที่กล่าวมาข้างต้นควรทำต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากยังใช้เสียงมากในขณะที่เส้นเสียงมีปัญหา จะทำให้บวมและอักเสบมากยิ่งขึ้น คุณภาพของเสียงแย่ลง และเมื่อได้รับการรักษาจะหายช้ากว่าที่ควรหรืออาจหายไม่สนิท และอาจมีโรคแทรกเกิดขึ้นได้ เช่น เนื้องอกเส้นเสียง เป็นต้น
ดูแลเส้นเสียงให้แข็งแรง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมงต่อคืน
- ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2 ลิตร) เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรเป็นน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- เลี่ยงมลภาวะในอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน สารพิษต่าง ๆ
- ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคทางเดินหายใจติดเชื้อ
- ฝึกการออกเสียงพูดหรือร้องเพลงที่ถูกวิธี ไม่ตะเบ็งเสียง หากฝึกเป็นประจำช่วยให้กล้ามเนื้อเส้นเสียงแข็งแรง
- เมื่อไม่สบายควรรีบรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยให้หายเอง เพราะถ้าหวัดหายช้า เสียงจะยิ่งแหบง่ายขึ้น
- ไม่ใช้เสียงมากขณะที่เสียงกำลังแหบหรือทางเดินหายใจมีการอักเสบและติดเชื้อหรือมีภาวะกล่องเสียงอักเสบ
การรักษาอาการเสียงแหบขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคเป็นสำคัญ ซึ่งควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อจะได้ทราบสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากส่งผลให้เสียกับบุคลิกภาพ ยังอาจเรื้อรังจนรุนแรงมากกว่าที่คิด