กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ โรคใกล้ตัวคนวัย 50+

5 นาทีในการอ่าน
กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ โรคใกล้ตัวคนวัย 50+

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อตามมา ร่างกายเกิดความเสื่อม หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นกับข้อ เช่น ข้อแตก ข้อหัก ร่างกายจะดึงแคลเซียมออกมาเพื่อไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อมนั้น อาทิ บริเวณข้อต่าง ๆ รวมถึงข้อไหล่ จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก ส่งผลให้กลายเป็นกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งหากมีความผิดปกตินี้เกิดขึ้นที่บริเวณข้อไหล่ อย่าวางใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเร่งรักษา

 

ปวดไหล่ ยกแขนขึ้นไม่สุด

อาการปวดไหล่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุของอาการปวดอาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างของข้อไหล่เองหรือจากภาวะข้อไหล่ไม่มั่นคง (Instability pain) หรืออาการปวดต่างที่ (Referred pain) เช่น จากกระดูกต้นคอ ทรวงอก หรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดในแต่ละโรคอาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ 

แต่สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดไหล่ ได้แก่ ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) ข้อไหล่หลุด (Shoulder instability) ข้ออักเสบ (Arthritis) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) และกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) เป็นต้น 

ทั้งนี้ โรคกระดูกงอกสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เมื่อกระดูกเกิดความเสื่อม แตก หัก ซึ่งร่างกายจะนำแคลเซียมไปซ่อมแซมและทำให้กระดูกนั้น ๆ เกิดเป็นแคลเซียมที่ผิดธรรมชาติที่เรียกว่ากระดูกงอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกระดูกทุกส่วนในร่างกาย

 

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) และภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis) สาเหตุเกิดได้จาก 

1) ความเสื่อมของร่างกายและข้อไหล่ 

เนื่องจากเมื่อสูงอายุร่างกายจะเกิดความเสื่อมรวมถึงกระดูกที่มีโอกาสเกิดการสึกหรอ ร่างกายสร้างหินปูนขึ้นมาจับและพอกขึ้นจนเป็นกระดูกงอก โดยหินปูนจะงอกออกมาจากกระดูกปกติ แล้วมากดเบียดเส้นเอ็นที่อยู่ด้านล่างของกระดูก ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป 

2) สาเหตุจากการใช้งาน 

  • การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อข้อไหล่มาก ๆ จนทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดและไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจึงพยายามสร้างหินปูนมาเชื่อมบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง 
  • การเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มาก ๆ เช่น การเล่นเวท เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น 

3) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก

ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) เกิดจากการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่กับปลายกระดูกสะบัก ขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะบ่อย ๆ ทำให้เกิดอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งขณะยกแขนขึ้นสูงหรือกางแขนออก ผลที่ตามมาคือ จะมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น จนท้ายสุดอาจทำให้เส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดได้ 

โดยช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนมากจะมีประวัติปวดไหล่เวลากลางคืน และปวดมากเวลานอนตะแคงทับแขนด้านที่มีอาการ ในระยะที่รุนแรงจะพบเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ทำให้แขนอ่อนแรง ยกแขนขึ้นได้ลำบาก 

4) โรคข้อไหล่ติด

โรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) พบมากในช่วงอายุ 50 – 60 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดผังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง พบบ่อยในกรณีที่กระดูกหักบริเวณแขน ทำให้ผู้ป่วยขยับแขนได้ลดลง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดข้อไหล่ที่คล้ายคลึงกัน จนไม่สามารถไขว้มือไปด้านหลังได้สุด ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างยากลำบาก จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความผิดปกติใด

 

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

 

รักษากระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

การรักษาเริ่มแรก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการ การซักประวัติ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจแบบอื่นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก หรือตรวจ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะเสื่อมหรือการขาดของเส้นเอ็นบริเวณไหล่ และยังสามารถให้รายละเอียดของกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ได้ดี 

โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ 

1) ไม่ต้องผ่าตัด สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ในระยะเริ่มต้น และไม่มีอาการของข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย โดยจะใช้วิธีทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด ร่วมกับลดกิจกรรมที่กระทำต่อข้อไหล่ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อตัวจากการไม่ได้ใช้งาน บางรายใช้เวลาในการรักษาไม่นาน บางรายรักษาไม่หายทนทรมานต่อความเจ็บปวด หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด 

2) การผ่าตัดผ่านกล้อง ปัจจุบันวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวเหมือนในอดีต เทคโนโลยีการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ปัจจุบันถือป็นมาตรฐานการรักษาโรคข้อไหล่ที่ยอมรับทั่วโลก เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ร่วมกับมีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดแบบในอดีต เทคโนโลยี MIS ผ่าตัดผ่านกล้องยังสามารถกรอกระดูกที่งอกกดทับเอ็นข้อไหล่ ผ่าตัดแต่งเนื้อเอ็นที่ขาดให้เรียบ และเย็บซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาด ถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยคนไข้สามารถทำกายภาพขยับไหล่ได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด ลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องเปิดแผลกว้างเพื่อเข้าไปเย็บเส้นเอ็นเล็ก ๆ เส้นเดียวที่หัวไหล่ ซึ่งกว่าแผลจะหายและคนไข้เริ่มขยับได้ต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ขณะที่การผ่าตัดผ่านกล้องจะเป็นเพียงการเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อส่องกล้องเข้าไปกรอกระดูกที่งอกบริเวณที่เกิดปัญหาได้อย่างตรงตำแหน่ง คนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลไม่นาน ฟื้นตัวไว ข้อไหล่กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง

 

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

 

บำบัดความเจ็บปวดด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง (Radial shockwave) เป็นเครื่องบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบและมีการสะสมของหินปูนที่เอ็นกล้ามเนื้อไหล่ เพิ่มประสิทธิภาพในการสลายแคลเซียม และเพิ่มกระบวนการไหลเวียนเลือด คลื่นกระแทกสามารถส่งผ่านจากภายนอกร่างกายเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณไหล่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น

 

ป้องกันกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ 

การป้องกันเพื่อลดการเกิดภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ สามารถทำได้โดย 

  1. ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลไปถึงข้อต่าง ๆ  
  2. รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะโปรตีน พืชผัก ผลไม้ 
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้นหรือแกว่งแขนไปมา เนื่องจากอาจทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานมากขึ้น เกิดการอักเสบหรืออาจฉีกขาดได้ 

สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือผู้สูงอายุคือ การเดินไปมาพอให้มีเหงื่อออกประมาณ 15 นาที การบริหารยืดข้อไหล่อย่างช้า ๆ และยืดให้สุดจะช่วยเพิ่มพิสัยในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ดีขึ้น เช่น การใช้มือไต่ผนัง การรำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น 

หรือในกรณีที่เป็นนักกีฬาก็จะมีเทคนิคในการวอร์มอัพร่างกายของกีฬาแต่ละชนิด ซึ่งควรปฏิบัติให้ถูกต้องในระยะเวลาพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ 

 

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกปวดข้อไหล่ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด