ภาวะมีบุตรยาก ปัญหาชวนปวดใจของคนอยากมีลูก

7 นาทีในการอ่าน
ภาวะมีบุตรยาก ปัญหาชวนปวดใจของคนอยากมีลูก

ปัญหาการมีลูกยากเป็นหนึ่งในปัญหาที่คู่รักหลายคู่หนักใจ เพราะพยายามเท่าไรก็ไม่สำเร็จสักที ซึ่งมักมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการเข้าใจเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากและเข้ามารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยากโดยเร็วที่สุด ย่อมช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสประสบความสำเร็จกับการตั้งครรภ์ได้ในอนาคต

 

ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ

การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ขั้นแรกรังไข่ต้องมีการตกไข่ (Ovulation) เมื่อไข่ตกออกมาจากรังไข่ ไข่จะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ด้านเดียวกับรังไข่ การปฏิสนธิจะเกิดในท่อนำไข่นี้ โดยที่อสุจิต้องเดินทางผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูกและเข้าไปผสมกับไข่ในท่อนําไข่ จากนั้นไข่ที่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนจะเดินทางจากท่อนําไข่ไปยังมดลูกและฝังตัวในเยื่อบุมดลูกและพัฒนาเป็นทารกต่อไป หากมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะขั้นตอนใดในกระบวนการนี้จะนําไปสู่ภาวะมีบุตรยาก


ภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก คือ การที่ผู้หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากพยายามมีบุตรโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่หากมีอายุ 35 ปีขึ้นไปอาจจะถือว่ามีภาวะมีบุตรยาก หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยพบว่าอย่างน้อย 15 % ของคู่สมรสมีปัญหาในการตั้งครรภ์


ต้นเหตุภาวะมีบุตรยาก

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากแบ่งเป็น 5 สาเหตุหลัก ได้แก่

1) ปัญหาการตกไข่ (Ovulation Factor) พบประมาณ 25% ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก การประเมินการตกไข่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง โดยใช้ชุดทดสอบการตกไข่ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา หลักการคือตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีฮอร์โมนไข่ตก (LH – Luteinizing Hormone) ออกมาในปัสสาวะหรือไม่ โดยมักจะตรวจพบฮอร์โมน LH สูงขึ้น (LH Surge) ประมาณ 24 – 36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก จึงสามารถทำนายช่วงระยะเวลาที่ไข่จะตกได้และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่การตรวจวิธีนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลลบลวงอยู่พอสมควร หมายความว่า แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนไข่ตก แต่อาจตรวจไม่ตรงเวลาหรือแถบตรวจแสดงผลเป็นลบหรือบวกอ่อน ๆ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ

นอกจากนี้สามารถประเมินการตกไข่ได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน ถ้าพบฟองไข่ขนาดใหญ่ในรังไข่ แพทย์สามารถคาดคะเนวันตกไข่ได้ สำหรับผู้หญิงที่ตรวจพบว่ามีปัญหาเรื่องการตกไข่ แพทย์อาจตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยเจาะเลือดดูค่าฮอร์โมนไทรอยด์และโพรแลกติน (Prolactin) และพิจารณาให้ยากระตุ้นไข่ ซึ่งมีทั้งยาเม็ดและยาฉีด

เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นจำนวนและคุณภาพของไข่ในรังไข่จะลดลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงอายุมากมีบุตรยากกว่าผู้หญิงอายุน้อย ซึ่งตรวจประเมินจำนวนไข่สำรอง (Ovarian Reserve) ซึ่งบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่ได้หลายวิธี เช่น เจาะเลือดดูระดับฮอร์โมน AMH (Antimullerian Hormone) เป็นต้น ผู้หญิงที่ปริมาณไข่สำรองลดลง ฮอร์โมน AMH จะต่ำ

การทำอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเพื่อนับจำนวนฟองไข่ (Transvaginal Ultrasound With Antral Follicle Count) ก็เป็นอีกวิธีที่ใช้ประเมินจำนวนไข่สำรองได้ โดยผู้หญิงที่มีจำนวน Antral Follicles มาก เป็นการบ่งบอกว่ารังไข่ยังทำงานได้ดีจึงสามารถเห็นฟองไข่ขนาดเล็กจำนวนมาก

การประเมินจำนวนไข่สำรอง (Ovarian Reserve) มีประโยชน์ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพราะช่วยคาดคะเนปริมาณฟองไข่ที่จะเติบโตได้หลังการกินยา หรือฉีดยากระตุ้นรังไข่ ช่วยประเมินโอกาสสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome – OHSS)

2) ปัญหาท่อนำไข่ (Tubal Factor) ในกระบวนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ท่อนำไข่เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นที่ที่ไข่และอสุจิจะพบกันและเกิดการปฏิสนธิ การตรวจสอบว่าท่อนำไข่มีการตีบตันหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจเอกซเรย์ฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingogram – HSG) จากผลการตรวจ HSG ผู้หญิงที่สงสัยว่ามีท่อนำไข่ตีบตันในบางรูปแบบ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดผ่านกล้องดูในอุ้งเชิงกราน (Laparoscopy) เพื่อประเมินสภาวะของท่อนำไข่และในบางกรณีอาจทำการผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่ที่ตีบตันได้

ในผู้หญิงที่ผลการตรวจ HSG และ/หรือ การผ่าตัดผ่านกล้องยืนยันว่าท่อนำไข่ตีบตันทั้งสองข้างจะไม่สามารถมีลูกได้โดยวิธีธรรมชาติหรือวิธีการฉีดน้ำเชื้อ (Intrauterine Insemination – IUI) จะต้องทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization – IVF) และในบางรายที่พบว่าท่อนำไข่มีการตีบตันและมีการบวมน้ำร่วมด้วย (Tubal Obstruction with Hydrosalpinx) แนะนำให้ผ่าตัดท่อนำไข่ที่บวมน้ำออกก่อนโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Salpingectomy) จึงจะสามารถย้ายตัวอ่อนที่ได้จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในภายหลังได้

ภาวะมีบุตรยาก ปัญหาชวนปวดใจของคนอยากมีลูก

3) ปัญหาอสุจิ (Male Factor) พบประมาณ 40% ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก การตรวจอสุจิ (Semen Analysis) จะช่วยบอกคุณภาพของน้ำเชื้อ ปริมาณตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ รวมไปถึงรูปร่างตัวอสุจิ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจอสุจิ ฝ่ายชายควรงดเว้นจากการหลั่งน้ำเชื้อหรือมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 3 – 7 วัน และทำการเก็บอสุจิด้วยตัวเองใส่ภาชนะที่ทางโรงพยาบาลจัดให้และส่งให้ทางห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากหลั่งน้ำเชื้อ

ในกรณีที่ผลตรวจอสุจิมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะพิจารณาตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนหรือเจาะชิ้นเนื้อลูกอัณฑะมาตรวจหาตัวอสุจิ (Testes Biopsy) หากไม่พบว่ามีตัวอสุจิในน้ำอสุจิ (Azoospermia) ในรายที่สงสัยว่าอาจจะมีความผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะ เช่น มีเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะหรือลูกอัณฑะผิดปกติจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการระบบทางเดินปัสสาวะ (Urologist)

4) ปัญหาที่มดลูกและปากมดลูก (Uterine / Cervical Factor) สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากมดลูก ได้แก่ มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma) ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial Polyp) พังผืดในโพรงมดลูก (Intrauterine Adhesion) ซึ่งอาจรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อน และยังเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร การวินิจฉัยภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ อัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน (Pelvic Ultrasound) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Pelvis) ในกรณีที่มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด การฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงมดลูก (Saline Instillation Sonohysterography) การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Diagnostic Hysteroscopy) เป็นต้น  สำหรับผู้หญิงที่เคยผ่าตัดปากมดลูกเพื่อการรักษา (LEEP) เนื่องจากพบเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก หลังการผ่าตัด LEEP ปากมดลูกมักจะมีการผิดรูปหรือตีบตัน อาจพบว่าเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ ผู้หญิงกลุ่มนี้ในภายหลังหากตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น

5) ปัญหาเยื่อบุภายในช่องท้อง (Peritoneal Factor) เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน รวมถึงมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) บริเวณเยื่อบุช่องท้องที่ปกคลุมมดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ จะทำให้เกิดแผลเป็น (Scar) พังผืด (Adhesion) และอาจทำให้มีภาวะมีบุตรยาก พบได้ประมาณ 35% ของผู้หญิงที่มีบุตรยากโดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ซึ่งมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดประจำเดือนมาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการเจ็บลึก ๆ ในช่องคลอดและท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่ในบางรายก็ไม่มีอาการผิดปกติ การวินิจฉัยภาวะนี้ทำได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องดูในอุ้งเชิงกราน (Diagnostic Laparoscopy) แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาภาวะเหล่านี้ได้ในขั้นตอนเดียว ถ้าส่องกล้องดูในอุ้งเชิงกรานแล้วพบว่ามีรอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืด หรือมีถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ก็จะทำการจี้ไฟฟ้าเพื่อทำลายรอยโรค เลาะพังผืด เลาะถุงน้ำรังไข่ และฉีดสีประเมินดูการตีบตันของท่อนำไข่ในคราวเดียวกัน


ภาวะมีบุตรยาก ปัญหาชวนปวดใจของคนอยากมีลูก
ภาวะมีบุตรยากแบบไม่มีสาเหตุ

ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained Infertility) พบประมาณ 10% ของคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากที่มารับคำปรึกษาโดยการตรวจหาสาเหตุทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในกลุ่มนี้แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาทันที โดยเริ่มจากวิธีฉีดน้ำเชื้อ (Intrauterine Insemination – IUI) ถ้าทำ IUI ไปสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ (ประมาณ 3 – 6 รอบ) แพทย์จะพิจารณาทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization – IVF) ต่อไป


ตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก

มีข้อมูลระบุว่าอย่างน้อย 25% ของคู่สมรสที่มีบุตรยากมักจะมีมากกว่าหนึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากจึงเป็นสิ่งสําคัญมากที่แพทย์จะตรวจประเมินปัจจัยทั้งหมดจากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับ

  • ความถี่และความสม่ำเสมอของรอบประจําเดือน
  • อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน
  • ประวัติเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ประวัติการตั้งครรภ์และการแท้งบุตรก่อนหน้านี้
  • วิธีการคุมกําเนิดที่ผ่านมา
  • ฝ่ายชายหากมีประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดที่อวัยวะเพศหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส ก็อาจจะทำให้มีปัญหาเชื้ออสุจิผิดปกติได้
  • ข้อมูลเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เช่น ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ใน 1 สัปดาห์ ความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ความยากลําบากในการมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ ล้วนมีความสำคัญ เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ขัดขวางทำให้การตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติเป็นไปได้ยากขึ้น

นอกจากการพูดคุยซักประวัติและวางแผนการตรวจหาสาเหตุมีบุตรยากแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดีในอนาคต ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานวิตามินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยาที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในระหว่างตั้งครรภ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น


หากคู่รักคู่ใดประสบกับภาวะมีบุตรยากไม่ต้องกังวลใจ เพราะปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์มีหลายวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI – Intrauterine Insemination) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) รวมทั้งเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมระยะก่อนฝังตัว (PGT-A และ PGT-M) ซึ่งศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีแพทย์ที่มีความชำนาญและทีมสหาสาขาวิชาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ พร้อมให้การดูแลในทุกขั้นตอนด้วยมาตรฐานระดับสากลเพื่อโอกาสที่ดีที่สุดในการตั้งครรภ์ เติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. ชุตินาท อิ่มเอม

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ. ชุตินาท อิ่มเอม

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด