ไข้หวัดใหญ่อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้

3 นาทีในการอ่าน
ไข้หวัดใหญ่อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ระบาดมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) ของทุกปี ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป

อ่านหัวข้อ

 

รู้จักโรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิดมากพอที่จะทำให้สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ในคนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถป่วยได้อีก อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง
  2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมมาก จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้าง ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป

 

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย

 

อาการไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยสังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือ ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39 – 40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3 – 4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นเด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหารเป็นอาการสำคัญ 

ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อย่างหนึ่งคือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่

 

ดูแลรักษาไข้หวัดใหญ่

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะหายเอง หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ๆ และนอนพักมาก ๆ ไม่ควรออกกำลังกาย

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด  มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ

 

ป้องกันไข้หวัดใหญ่

  1. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย
  2. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 
  3. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  6. ดื่มน้ำสะอาด
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  8. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
  9. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพิ่มเติมจากตารางฉีดวัคซีนตามปกติ แนะนำให้ฉีดกับคนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 19 ปี คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องไปคลินิกหรือไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วงฤดูไข้หวัด ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล คนที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

 

แม้ไข้หวัดใหญ่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป

Loading

กำลังโหลดข้อมูล