การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

2 นาทีในการอ่าน
การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

อาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าเกิดได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอลรองจากข้อเท้า มักจะสร้างปัญหารุนแรงและเสียเวลารักษานานอยู่เป็นประจำ

คำกล่าวที่ว่าเมื่อเกิดการบาดเจ็บเข่าแล้ว ต้องหยุดเล่นหรือหมดอนาคตไปเลยนั้นมีโอกาสน้อยลงมาก ๆ ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับอดีต ปัจจุบันความเข้าใจในกลไกของข้อเข่ามีมากขึ้น ทำให้สามารถรักษา แก้ไขปัญหาซึ่งในอดีตแก้ไขไม่ได้หรือได้ผลไม่ดีให้กลับมาได้ผลดีเลิศ และกลับไปเล่นต่อได้ในระดับเดิมหรือใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตามการป้องกันย่อมดีกว่ารอรักษาเมื่อเกิดการบาดเจ็บ



สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะ การบิดของเข่า เมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ การกระโดดหรือรีบยกเท้าขึ้นไม่ให้เท้ายันอยู่กับพื้นสนามจะช่วยลดความรุนแรงของการบิดหรือกระแทกได้ ส่วนการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะมักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่มีความแข็งแรง ทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บ แต่มักเป็นการบาดเจ็บแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือสะสมมากกว่าจะเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดเลย



ป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

การป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าต้องเข้าใจว่า ทุกองค์ประกอบมีผลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นสนาม, รองเท้า, ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น, ปัจจัยภายในของเข่าเอง ทั้งการบาดเจ็บในอดีตหรือกล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บได้เสมอ และไม่ใช่เฉพาะแค่เข่าอย่างเดียว



การปฐมพยาบาลเมื่อบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

หากเกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าขึ้นแล้ว การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ ให้นอนอยู่นิ่ง ๆ รอคนมา อาจเป็นเพื่อนหรือนักกายภาพ อย่าเพิ่งพยายามขยับเอง รีบประคบเย็น เมื่อทิ้งเวลาสักพักให้ลองขยับเข่าด้วยตัวเอง และสังเกตว่าเจ็บบริเวณไหน ลองงอเข่าเหยียดเข่าดู พยายามค่อย ๆ ลงน้ำหนัก สังเกตอาการบวมว่าเกิดขึ้นทันทีหรือไม่ หรือมีความรู้สึกมีเสียงดังคล้าย ๆ เสียงฉีกขาดของเอ็นในขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเมื่อไปพบแพทย์ แต่ถ้าปวดมากขยับไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มีและพันผ้ายึดให้แข็งแรง ถ้าข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่าพยายามกด ดัน ดึง หรือปรับให้เข้าที่เอง ให้ดามอยู่ในลักษณะนั้นจนกว่าจะถึงมือแพทย์


 

รักษาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า

การรักษาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าขึ้นอยู่กับว่าได้รับการบาดเจ็บส่วนไหน ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะตรวจร่างกาย ซักประวัติ หรือทำการตรวจ X-Ray หรือ Scan เพิ่มเติมต่อไป โดยในเบื้องต้นถ้ามีอาการเข่าบวมทันที มักจะบ่งบอกถึงว่า อาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก ซึ่งจากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้า หรือ ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีก จะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย ถ้าเป็นลักษณะดังกล่าวแพทย์มักจะใส่เฝือกอ่อน และให้ยาเพื่อลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดน้อยลง จึงจะพิจารณาผ่าตัดส่องกล้องแก้ไข

 



ทำไมต้องผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าทันที

เอ็นไขว้หน้าที่ฉีกไปนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไป แต่ละปลายของเอ็นก็จะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการสมานของเอ็นด้วยตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ในปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องรักษาทั้งเอ็น หมอนรองกระดูกเข่า กระดูกอ่อนเข่า ฯลฯ ถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดีเลิศ หายเร็ว และทำกายภาพบำบัดได้เร็วและง่ายกว่าเดิมมาก โดยผู้ป่วยสามารถงอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก และเริ่มทำกายภาพได้เลย ส่วนการเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่บาดเจ็บ คือมีตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องใช้เลย จนถึงใช้เต็มที่ก็ 3 สัปดาห์

 


 

ทุกคนควรระวังการบาดเจ็บทุกประเภท โดยการเตรียมตัวให้ดี กล้ามเนื้อต้องแข็งแรงยืดหยุ่น ไม่ใช่ไปเอากล้ามเนื้อที่แข็งแรงยืดหยุ่นตอนที่จะไปเตะฟุตบอล อันนี้ไม่ถูกต้อง ต้องมีการ Warm Up ที่ดีและนานพอ อุปกรณ์ต้องดี และที่สำคัญคือ มีทัศนคติของการไม่ทำร้ายคู่ต่อสู้ ซึ่ง FIFA เน้นมาก และอยู่ในกฎของ FIFA 11+ (เป็นกฎการป้องกันการบาดเจ็บ) ข้อสุดท้ายคือ “Fair Play”

 

ขอให้ทุกคนสนุกกับกีฬาที่ชอบ”

 

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด