ตับวาย รุนแรงล้มเหลว อันตรายถึงชีวิต

3 นาทีในการอ่าน
ตับวาย รุนแรงล้มเหลว อันตรายถึงชีวิต

ตับวายเป็นภาวะที่ต้องพึงระวังและไม่ควรนิ่งเฉย เพราะเป็นหนึ่งในภาวะอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะสำคัญและใหญ่ที่สุดในช่องท้อง เปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ที่ทำหน้าที่จัดการสารอาหาร ทำลายพิษที่เข้าร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อตับไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ นอกจากตับจะเสียหายแล้วยังส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ยิ่งถ้าถึงขั้นตับวายก็ยากจะกู้คืนตับให้กลับมาดังเดิม 

 

ปัจจัยร้ายทำลายตับ

ปัจจัยร้ายตัวการสำคัญในการทำลายตับ ได้แก่ 

  1. แอลกอฮอล์ สำหรับผู้หญิงเอนไซม์ย่อยสลายแอลกอฮอล์ไม่เท่าผู้ชาย ทำให้เมาง่ายกว่าและเป็นพิษต่อแอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าผู้ชาย
  2. โรคภัยไข้เจ็บ ภาวะของโรคที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นโรคของทางเดินน้ำดี อย่างนิ่วในถุงน้ำดี การอุดตันของถุงน้ำดี หรือไวรัสตับอักเสบ ซึ่งที่พบบ่อยมาก ๆ คือ ไวรัสตับอักเสบบี และที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ ไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคเลือด อย่างธาลัสซีเมีย หรือโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน ผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือแม้แต่คนสุขภาพดี แต่รับประทานวิตามินเสริมที่ไม่รู้ที่มา เพื่อหวังบำรุงสุขภาพมากเกินความจำเป็นของร่างกายก็อาจส่งผลเสียต่อตับได้เช่นกัน 
  3. ภาวะไขมันพอกตับ พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน เมื่อไขมันพอกตับมากขึ้น เกิดการอักเสบถี่มากขึ้น บ่อยมากขึ้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งของตับแข็งได้เช่นกัน

 

แบบไหนเรียกว่าตับแข็ง

จุดเริ่มต้นของตับแข็งมาจากการที่ตับพบกับปัจจัยร้ายทำลายตับอยู่เป็นประจำแบบไม่หยุดพักต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้ตับจะเป็นอวัยวะที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่หากความเสียหายเกิดขึ้นกับตับมากเกินกว่าขีดความสามารถของตับจะซ่อมแซมตัวเองได้ ตับที่เป็นเนื้อนิ่มจะเกิดการอักเสบ เกิดแผลภายในตับ แล้วถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง เซลล์ตับที่สร้างเพิ่มขึ้นจะกลายเป็นตะปุ่มตะป่ำ ตับจากดี ๆ จึงกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

 

ตับแข็งพัฒนาเป็นตับวาย 

เมื่อเซลล์ตับที่เคยทำงานได้ถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืดมาก ๆ เหลือเซลล์ตับที่สามารถทำงานได้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เซลล์ตับที่เหลืออยู่เกิดเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถประคองตัวเองให้กลับมาทำงานได้จะกลายเป็นตับวายในที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่ตับแข็งจะพัฒนาเป็นตับวาย ในอีกด้านตับสามารถวายเฉียบพลันได้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นในคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนัก ๆ เกิดไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน หรือมีอะไรที่ถาโถมทำร้ายตับมาก ๆ ทำให้ตับเสียหายจนทำงานไม่ได้ นำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน แต่ไม่เกิน 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วตับวายจะพัฒนามาจากตับแข็ง 

นอกจากนี้ตับแข็งอาจนำไปสู่มะเร็งตับได้แต่ไม่เสมอไป มีเพียง 10% ของคนที่เป็นตับแข็งที่พบว่าเป็นมะเร็งตับ และไม่ใช่ทุกคนที่เป็นมะเร็งตับจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นตับแข็ง แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นตับแข็งแล้วต้องมาพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

 

อาการตับแข็งสู่ตับวาย

ภาวะอ่อนเพลียง่าย อาจจะท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือหากมากจนถึงท้องป่อง ท้องมีเส้นเลือดดำ ๆ โป่งพองขึ้นมา ให้รีบพบแพทย์โดยไว หรืออาการอื่น ๆ ที่มีผลต่อสมอง สับสน ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ บริเวณอกมีเส้นเลือดเหมือนใยแมงมุมปรากฏ คางป่อง ท้องป่อง สะดือจุ่น มือแดง ตัวเหลืองตาเหลือง 

ถ้าผู้ป่วยเป็นชายจะมีภาวะหน้าอกโตร่วมด้วย ส่วนผู้หญิงจะมีขนเป็นจำนวนมาก ประจำเดือนผิดปกติ เสียงทุ้มต่ำเหมือนผู้ชาย เพราะเมื่อตับผิดปกติแล้วจะทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน

ภาวะท้องมาน ท้องบวมเป่ง รับประทานอาหารไม่ได้ ส่งผลให้ภาวะโภชนาการต่ำ ประกอบกับการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากเส้นเลือดแตกมีความเสี่ยงที่เลือดจะไหลไม่หยุด ภูมิต้านทานต่ำจากตับทำงานได้ไม่ดี ติดเชื้อง่าย เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าปกติ และเมื่อตับวายแล้วจะลามมาสู่ไตวายด้วย

ที่สำคัญยังไม่หยุดที่ตับและไตวาย เพราะคนที่ตับวายมาก ๆ จะมีของเสียในร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดจากโปรตีน ซึ่งมีแอมโมเนียร่วมด้วย หากแอมโมเนียเข้าในกระแสเลือดมากจนตับไม่สามารถกำจัดได้ อาจส่งผลต่อสมอง เกิดภาวะสมองชะงักงันถึงขั้นโคม่า และอาจจะนำไปสู่ภาวะสมองบวม สมองหยุดทำงานจนเสียชีวิต 

 

ตับวาย,​ ตับแข็ง

 

รักษาตับแข็งด้วยการผ่าตัด

หากผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ Decompensated Cirrhosis คือ เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นท้องมาน ดีซ่าน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และแพทย์พิจารณาแล้วว่าเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกมากมายจะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งต้องพิจารณาต่อว่าตับที่เสียหายหากตัดออกไป ตับที่คงเหลืออยู่สามารถทำงานต่อได้หรือไม่ ถ้าตัดไปแล้วทำงานต่อไม่ได้จึงจะนำไปสู่การผ่าตัดเปลี่ยนตับ  

 

ดูแลตับให้แข็งแรง


สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นตับแข็ง
วิธีดูแลตัวเอง คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ได้แก่ 

  • เลี่ยงแอลกอฮอล์ 
  • เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง 
  • เลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น 
  • รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ 
  • รับประทานอาหารเสริมอย่างเหมาะสมโดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

สำหรับผู้ที่เป็นตับแข็งหรือมีภาวะเสี่ยงจากโรคประจำตัวต่าง ๆ  นั้น ต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ได้แก่

  • ดูแลสุขภาวะให้ถูกต้องตามหลักอนามัย 
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ พบแพทย์สม่ำเสมอ

 

ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าอยู่ในภาวะตับแข็งแล้วประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 25 – 50% มักมีชีวิตอยู่รอดได้ประมาณ 10 ปี แต่ก่อนที่ตับจะเสียหายจนเป็นตับแข็งแล้วพัฒนาไปสู่ภาวะตับวายจนถึงแก่ชีวิต ควรป้องกันดูแลรักษาตับให้แข็งแรงเพื่อชีวิตที่ยืนยาว

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. สมสิทธิ์ ตันเจริญ

ศัลยศาสตร์

นพ. สมสิทธิ์ ตันเจริญ

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด