รู้จักโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ
โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (LPR) คือ โรคที่เกิดจากการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารจนถึงลำคอและกล่องเสียง
อาการบอกโรค
อาการของโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ ประกอบด้วย- ไอแห้ง ๆ แบบเรื้อรัง
- ไอกระแอมบ่อย ๆ เหมือนรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างติดอยู่ภายในลำคอ
- บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย หลายรายไม่มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย สิ่งสำคัญคือผลกระทบของน้ำย่อยที่มีต่อกล่องเสียงและอวัยวะบริเวณลำคอ เป็นสาเหตุที่ทำให้แสดงอาการต่าง ๆ
- บางรายมีอาการเสียงแหบเสียงแห้ง
- อาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งแต่พบไม่มาก คือ น้ำมูกไหล ผู้ป่วยมักจะเล่าว่ามีน้ำมูกไหลผิดปกติหรือเหมือนติดเชื้อหวัด
การตรวจวินิจฉัย
- หลังการซักประวัติผู้ป่วยแล้ว แพทย์ผู้ชำนาญการจะตรวจศีรษะและคอ โดยเฉพาะภายในลำคอ จมูก และกล่องเสียง แพทย์อาจจะใช้อุปกรณ์คล้ายกล้อง (Flexible Fiberoptic Laryngoscope) ส่องดูภายในบริเวณลำคอ ถ้าพบบริเวณที่มีการอักเสบหรือมีสีแดงแสดงว่าอาจเป็นโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ
- ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและการใช้ยายังไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้วิธีตรวจแบบวัดสภาพกรดด่าง (Ambulatory 24 – hour pH Monitoring) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของโรค
วิธีรักษาโรค
วิธีรักษาโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ มีดังนี้
-
การเปลี่ยนท่าของหลังและการลดน้ำหนัก
-
การควบคุมและปรับเปลี่ยนอาหาร
-
การใช้ยาลดกรด ลดน้ำย่อยหรือยาช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหาร
-
การผ่าตัดเพื่อป้องกันการไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร
-
การใช้ยารักษาคล้ายกับการรักษาโรคกรดไหลย้อน (GERD) รวมถึงการผ่าตัดในรายที่จำเป็น
ระยะเวลาการรักษา
ระยะเวลาในการรักษาโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการดีขึ้นในระยะ 2 สัปดาห์ โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้ทานยาติดต่อกันประมาณ 2
เดือนแล้วจึงพิจารณาลดขนาดยาหรือหยุดยา โรคนี้อาจจะมีการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
ป้องกันได้แค่รู้ทัน
วิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ ได้แก่
- ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคกรดไหลย้อน
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดตัวมาก ๆ บริเวณเอว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมาก ๆ ก่อนเข้านอนและควรเข้านอนหลังทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่อไปนี้คือ อาหารที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสเปรี้ยวหรือมินต์ แอลกอฮอล์ อาหารที่มีไขมันสูงหรือปรุงด้วยการทอด ไข่ ช็อกโกแลต เป็นต้น
- ในรายที่มีอาการรุนแรง ควรหนุนเตียงด้านศีรษะให้สูงอย่างน้อย 6 – 8 นิ้ว