วัยทองในผู้ชายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ชายต้องเผชิญเมื่ออายุย่างเข้าเลข 4 แต่ละคนจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และการดำเนินชีวิต แต่หากเข้าใจและพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงย่อมช่วยให้รับมือได้อย่างถูกต้อง
ความจริงที่ผู้ชายต้องยอมรับ
โดยธรรมชาติฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเผาผลาญไขมัน (Metabolism) การสร้างกล้ามเนื้อเพศชาย ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเริ่มลดลงในช่วงอายุ 42 – 45 ปี จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อาทิ ลงพุง อ้วนง่าย ผมร่วง ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตหากไม่สามารถปรับตัวได้
เช็กอาการเข้าข่ายผู้ชายวัยทอง
ผู้ชายแต่ละคนมีอาการวัยทองเกิดขึ้นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวน
- เบื่อง่าย หงุดหงิดง่าย
- ลงพุง
- นอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- สมาธิลดลง
- ซึมเศร้า
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- ฯลฯ
ปฏิบัติตัวดียืดความเป็นหนุ่มได้นาน
แนวทางการดูแลตัวเองของคุณผู้ชายเพื่อรับมือวัยทองนั้นทำได้ไม่ยาก ขอเพียงเปิดใจและพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้แก่
- อาหาร เลี่ยงอาหารรสหวาน เน้นทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย อาทิ ผักใบเขียว ถั่ว ไข่แดง แตงโม หรือหอยนางรม (ผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงต้องระวัง ควรปรึกษาแพทย์และเลือกรับประทานให้เหมาะกับร่างกาย)
- ออกกำลังกาย เน้นชนิดกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ปั่นจักรยาน ตีสควอช เป็นต้น
- จิตใจ คิดบวกและรู้วิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีคือ กำลังใจและความเข้าใจจากคนในครอบครัว
สำหรับคุณผู้ชายท่านใดที่อาการวัยทองรบกวนและส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อาจทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศว่าลดลงมากน้อยเพียงใด มีความรุนแรงในระดับใด รวมถึงเกี่ยวเนื่องกับสาเหตุอื่นหรือไม่ ซึ่งวิธีรักษาอาการวัยทองนั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การฟื้นฟูจิตใจไปจนถึงการใช้ยา มีทั้งยาทาน ยาทา และยาฉีด
ไม่เพียงแต่ผู้ชายอายุเลข 4 ที่เข้าสู่วัยทอง ผู้ชายอายุเลข 3 ก็สามารถเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควรได้ หากเครียด พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ชอบทานอาหารรสหวาน รวมถึงขาดสารอาหารบางประเภท เช่น ธาตุสังกะสี เป็นต้น การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ แต่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยแพทย์ผู้ชำนาญการ