โภชนบำบัดก่อนผ่าตัดกลุ่มโรคทางช่องท้องและทวารหนัก

4 นาทีในการอ่าน
โภชนบำบัดก่อนผ่าตัดกลุ่มโรคทางช่องท้องและทวารหนัก

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางช่องท้องและทวารหนักที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด นอกจากต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง  การดูแลด้านโภชนาการก่อนผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ยังช่วยฟื้นฟูร่างกายและบาดแผล อาจช่วยให้ออกจากโรงพยาบาลกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้เร็วขึ้น


โภชนบำบัดก่อนผ่าตัด

การปรับโภชนาการให้เหมาะสมก่อนการผ่าตัดช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่งเสริมการหายของแผล และอาจช่วยให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารได้ทันทีเมื่อทราบกำหนดการผ่าตัด


สารอาหารส่งเสริมการหายของแผล

  • โปรตีน หนึ่งในอาหารที่สำคัญที่สุดก่อนการผ่าตัด กรดอะมิโนจากอาหารที่มีโปรตีนสูงจะถูกใช้เพื่อสร้างเลือดเนื้อเยื่อใหม่ และสร้างภูมิคุ้มกัน โดยปริมาณโปรตีนที่แนะนำ (Dietary reference intake; DRI) อย่างน้อย 48 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง (เทียบเท่าเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ 13 ช้อนโต๊ะ) และ 56 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย (เทียบเท่าเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ 16 ช้อนโต๊ะ) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีความต้องการโปรตีนสูงกว่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารถึงปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม
  • วิตามินเอ ซี เค สังกะสี สนับสนุนกระบวนการหายของแผลและช่วยป้องกันการติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเคอย่างเพียงพอจำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด
  • วิตามินอี สนับสนุนร่างกายในการต่อต้านอนุมูลอิสระและการเกิดโรค แนะนำให้ได้รับวิตามินอีจากอาหารไม่ใช่อาหารเสริม เนื่องจากปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ควรได้รับธาตุเหล็กให้เพียงพอเพื่อช่วยสร้างเลือดที่สูญเสียไปในระหว่างผ่าตัด
  • แคลเซียมและวิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสุขภาพที่ดี ต้องได้รับอย่างเพียงพอ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระดูก

เลือกอาหารเตรียมพร้อมผ่าตัด

อาหารที่ควรรับประทานก่อนผ่าตัดควรเน้นความสมดุล เลือกให้หลากหลายจากกลุ่มอาหาร ดังนี้

  • โปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้ง ฯลฯ
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย ถั่วเขียว ฯลฯ
  • ผัก เช่น ผักใบเขียว แครอท บรอกโคลี พริกหวาน ฯลฯ
  • ผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย มะละกอ สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล เบอร์รี ฯลฯ
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น นม ชีส โยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำ ฯลฯ
  • ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง (ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ เป็นต้น) ฯลฯ

โภชนบำบัดก่อนผ่าตัดกลุ่มโรคทางช่องท้องและทวารหนัก

เมนูอาหารก่อนผ่าตัด

แพทย์จะเป็นผู้กำหนดประเภทอาหารก่อนผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของหัตถการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพตามปกติได้จนถึงวันก่อนการผ่าตัด แนะนำให้งดอาหารมื้อหลัก เช่น ข้าวไข่เจียว โจ๊ก และเครื่องดื่มที่ผสมนมหรือมีกากใย อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ และงดอาหารเหลว ได้แก่ น้ำเปล่า และเครื่องดื่มใสไม่มีกากใย เช่น กาแฟดำ ซุปใส น้ำแอปเปิล น้ำองุ่น น้ำหวานที่ไม่อัดลมอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตสามารถลดอาการหิวกระหายและลดภาวะ Insulin Resistance หลังผ่าตัด ทำให้รักษามวลของกล้ามเนื้อไว้ได้ ทั้งนี้การพิจารณางดอาหารขึ้นกับทีมศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากการดมยาสลบอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งการทำให้ท้องว่างก่อนการผ่าตัดอาจป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

อาหารหลังผ่าตัด

การรับประทานอาหารหลังผ่าตัดเพื่อส่งเสริมให้ฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้เริ่มรับประทานอาหารเหลวใสทันทีหลังการผ่าตัด และหากไม่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาหารปกติได้ใน 1 – 2 มื้อถัดไป ซึ่งอาหารหลังการผ่าตัดควรเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรเพิ่มปริมาณโปรตีนในแต่ละวัน 


ภาวะทุพโภชนาการก่อนผ่าตัด

ในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจะได้รับการประเมินด้านโภชนาการ ตรวจหาระดับโปรตีนในเลือด (Albumin) และได้รับคำแนะนำให้ฟื้นฟูภาวะโภชนาการก่อน เช่น เลือกอาหารที่มีพลังงานสูง เพิ่มมื้ออาหารเป็น 5 – 6 มื้อต่อวัน แต่หากรับประทานอาหารทางปากได้ไม่เพียงพอ อาจต้องเสริมอาหารทางการแพทย์ อาหารทางสายยาง หรืออาหารทางหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดใหญ่ การให้อาหารเสริมที่มี Arginine เป็นส่วนประกอบ (Immunonutrition) สามารถช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้

เกณฑ์การคัดกรองภาวะทุพโภชนาการ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ 

  • ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 กิโลกรัม/ ตารางเมตร2  
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ตั้งใจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
  • กินอาหารได้น้อยลงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • มีภาวะความเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตที่ฟอกเลือดต่อเนื่อง เบาหวาน มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น


การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดทั้งร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโภชนาการที่เหมาะสมมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้โดยเร็ว


Ref.
  • Arved Weimann et al. ESPEN guideline: Clinical nutrition in surgery. Clinical Nutrition 2017; 36: 623-650. Clinical Practice Recommendation for the nutrition management in adult hospitalized patients 2017. SPENT. Dietary reference intake for 2020.
  • American Society of Anesthesiologists Fasting Recommendations Minimum Fasting Period 2017
  • ประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยฉบับที่ ๒/๒๕๖๔ เรื่องแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการงดน้ำและอาหารก่อนได้รับการผ่าตัดและหัตถการ Preoperative or pre-procedural fasting guidelines in patients undergoing elective surgery and procedures
  • Marimuthu K, Varadhan KK, Ljungqvist O, and Lobo DN. A meta-analysis of the effect of combinations of immune modulating nutrients on outcome in patients undergoing major open gastrointestinal surgery. Ann Surg. 2012; 255:1060-1068.
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด