ครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง

3 นาทีในการอ่าน
ครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง

ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ย่อมไม่อยากเผชิญกับภาวะที่ชวนให้กังวลใจ โดยเฉพาะครรภ์เป็นพิษที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ทั่วโลก มีข้อมุลระบุว่า ในคุณแม่ 100 คน จะมีคุณแม่ครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน โดย 80% อาการจะไม่รุนแรง อีก 20% อาการจะรุนแรงมาก ซึ่งครรภ์เป็นพิษมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การรักษามีเพียงทางเดียวคือ การคลอดเจ้าตัวเล็กออกมาโดยเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลยและใส่ใจสังเกตตนเองอยู่เสมอเพื่อจะได้รับมือได้ทันท่วงที

 

รู้จักครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษรกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากร้ายแรงถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วย อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

 

ผู้ที่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสตีบได้ง่าย
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีครรภ์เป็นพิษ
  • ผู้ที่มีบุตรยาก
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น  เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไต ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง (SLE) ฯลฯ

 

สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ

ความผิดปกติของร่างกายที่อาจบ่งบอกว่าครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • บวม โดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า หน้า
  • น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ โดยปกติน้ำหนักแม่จะเพิ่มที่เดือนละ 1.5 – 2 กิโลกรัม
  • ปวดศีรษะมาก ทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
  • ทารกดิ้นน้อย ตัวเล็ก โตช้า
  • ความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท 
  • ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
  • ตาพร่ามัว 
  • ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา

 

ระดับความรุนแรงของโรค

ครรภ์เป็นพิษมีความรุนแรงหลายระดับ ได้แก่

  1. ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง (Non – Severe Pre – Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน
  2. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe Pre – Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ
  3. ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์ชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง หากอยู่ในระยะนี้ต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะแม่และลูกมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

ครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้ตามความรุนแรง โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับแม่และลูก มีดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนของแม่ ได้แก่ ชัก เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ เลือดออกในสมอง หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต
  • ภาวะแทรกซ้อนของลูก ได้แก่ ตัวเล็ก โตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์แม่

 

ตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษ

การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจิญเติบโตของทารกในครรภ์แล้วนำมาประเมินวางแผนการรักษาต่อไป

 

ตรวจคัดกรอง

การตรวจคัดกรองสามารถตรวจได้โดยดูจากปัจจัยเสี่ยง การเจาะเลือด และการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก เพื่อที่จะพิจารณาการให้ยาแอสไพริน เพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษ ซึ่งสามารถลดอัตราการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ 60%

 

รักษาครรภ์เป็นพิษ

การรักษาครรภ์เป็นพิษทำได้โดยผ่าคลอด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอดแล้วพิจารณาว่าสามารถประคับประคองให้อยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดกี่วัน แต่หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ แพทย์จะทำการผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค หลังผ่าคลอดเป็นที่เรียบร้อยทารกจะต้องได้รับการดูแลโดยหน่วยทารกแรกเกิดวิกฤติจนกว่าสุขภาพทารกแข็งแรง ในส่วนของแม่นั้นหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมง มีโอกาสที่จะความดันโลหิตสูงและชักได้ แพทย์จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ร่างกายแม่จะกลับมาเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางโดยละเอียด 

 

ป้องกันครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษสามารถป้องกันได้โดยการไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ เพราะหากเกิดความผิดปกติแพทย์จะทำการรักษาโดยด่วน แพทย์อาจมีการให้ยาแอสไพรินเพื่อละลายลิ่มเลือด แต่ต้องหยุดยาก่อนคลอด 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวช้าระหว่างผ่าตัดคลอดหรือคลอดธรรมชาติ นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสังเกตอาการที่เกิดขึ้น หากมีอาการบวมหรือน้ำหนักขึ้นเร็วและมากผิดปกติ ปวดศีรษะมากทานยาแล้วไม่หาย อาจเสี่ยงที่จะเป็นครรภ์เป็นพิษได้ จำไว้เสมอว่า ยิ่งรู้เร็วรักษาเร็วย่อมช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งแม่และลูก 

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
นพ. ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์สุขภาพสตรี

ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด