ไม่มีคุณแม่คนไหนอยากตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ดังนั้นการดูแลคุณแม่หลังคลอดเป็นเรื่องที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ เข้าใจ และช่วยคุณแม่ไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว พร้อมรับฟังทุกปัญหา เพื่อให้คุณแม่หลังคลอดอุ่นใจและมีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่หากคุณแม่หลังคลอดมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองควรรีบพบแพทย์ทันทีก่อนสายเกินไป
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้หลังคุณแม่คลอดในช่วงวันแรก ๆ ไปจนถึงนานหลายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละคน โดยอารมณ์และสภาพจิตใจจะเกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงในทางลบ ทั้งเบื่อหน่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ไม่อยากกินอะไร ไม่อยากเลี้ยงลูก หากอาการไม่ดีขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่รุนแรงอย่างการทำร้ายตนเองหรือทำร้ายลูกจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุดร่วมกับการดูแลของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด
สาเหตุภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีหลากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน อาทิ
- ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อาทิ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ฮอร์โมนไทรอยด์ ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
- ความวิตกกังวลในการเลี้ยงเจ้าตัวเล็ก การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง รู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิต เช่น ปัญหาการให้นม ปัญหาการเลี้ยงลูก ปัญหาการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์ ฯลฯ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีอาการอย่างไร
- เบื่อหน่าย วิตกกังวล ตื่นตระหนก
- อารมณ์แปรปรวน สับสน ขาดสมาธิ
- นอนไม่หลับ นอนมากเกินไป
- ไม่อยากเลี้ยงลูก
- ไม่กินอาหารหรือกินอาหารมากเกินไป
- รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ไร้ค่า ร้องไห้บ่อย
- แยกตัวจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด ไม่เข้าสังคม
- ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้
- ถ้าร้ายแรงอาจคิดทำร้ายตัวเองและลูก
ตรวจวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
การตรวจวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แพทย์จะทำการประเมินอาการจากการซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะอาการทางจิตใจและพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทำแบบทดสอบสุขภาพจิตเพื่อประเมินโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคจิตเวชต่าง ๆ และทำการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุและค้นหาความผิดปกติ ทำให้สามารถดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ได้อย่างถูกวิธี
รักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร
เพราะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน สิ่งสำคัญคือการสังเกตความผิดปกติในชีวิตประจำวันและรีบพบแพทย์เพื่อประเมินและเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ซึ่งวิธีการรักษาประกอบไปด้วย
- การบำบัดใจ พูดคุยกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อจัดการอารมณ์และความคิดตามที่แพทย์แนะนำ
- การรับประทานยา เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลและแก้ปัญหาสุขภาพ
- การดูแลโดยคนใกล้ชิด มีความเข้าใจ พร้อมเคียงข้าง และให้การสนับสนุนคุณแม่ให้กลับมาหายดี
- การปรับพฤติกรรม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีเวลาให้ตนเอง ระบายกับคนใกล้ชิด ทำกิจกรรมที่ชอบ พบแพทย์ทันทีเมื่อรู้ว่าตนเองรับมือไม่ไหว
ภาวะแทรกซ้อนจากซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่
- ทารกที่มีคุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอดมักร้องไม่หยุด หลับยาก กินยาก งอแง สมาธิสั้น
- คุณแม่ไม่ผูกพันกับเจ้าตัวเล็กนำไปสู่ปัญหาครอบครัว
- คุณแม่อาจเป็นซึมเศร้าเรื้อรังหรือซึมเศร้าในอนาคต
- คุณพ่อเสี่ยงเป็นซึมเศร้าจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมในครอบครัว
ป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ไหม
- เตรียมพร้อมและวางแผนสำหรับการเป็นคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด
- แบ่งปันเรื่องราวกับคนใกล้ชิด อย่าเก็บความทุกข์ใจไว้คนเดียว
- ฝึกจัดการอารมณ์และความเครียดให้สมดุล
- สังเกตอาการและความผิดปกติของตนเองเสมอ
- หากเคยป่วยซึมเศร้าควรพบแพทย์เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คุณแม่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนเพื่อให้คุณแม่กลับมามีสุขภาพใจที่ดี พร้อมดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างมีคุณภาพและสร้างครอบครัวที่มีความสุขในระยะยาว
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ไหนดี
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณแม่กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมดูแลเจ้าตัวเล็กให้เติบโต
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ผศ.พญ.อัจจิมา สูงสถิตานนท์ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจคลอดพร้อมมอบแด่คุณแม่
แพ็กเกจคลอด ราคาเริ่มต้น 96,000 บาท