ถาม - ตอบเรื่องโรต้าไวรัส (ROTAVIRUS)

2 นาทีในการอ่าน
ถาม - ตอบเรื่องโรต้าไวรัส (ROTAVIRUS)

โรต้าไวรัส (ROTAVIRUS) ทำให้เกิดอาการท้องเสียฉับพลันและติดต่อกันได้ง่ายมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่หลายคนยังสงสัยว่า ท้องเสียแบบใดเสี่ยงเป็นโรต้าไวรัสและหนักแค่ไหนถึงต้องมาพบแพทย์ คำถามและคำตอบต่อไปนี้จะช่วยให้คุณรู้เท่าทันโรต้าไวรัส

 

ถาม : รู้ได้อย่างไรว่า “โรต้าไวรัส” หรือท้องเสียธรรมดา

ตอบ โรต้าไวรัสเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสียฉับพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปอาการท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัสมักจะมีความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามอาจยากที่จะแยกโรต้าไวรัสกับท้องเสียธรรมดาจากอาการเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสังเกตอาการติดเชื้อโรต้าไวรัส ได้แก่ มีไข้ อาเจียน ท้องเสียเป็นน้ำ และไม่มีเลือดปน ซึ่งในเด็กหรือผู้สูงอายุหากรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้

 

ถาม อาการท้องเสียแบบใดควรรีบมาพบแพทย์

ตอบ : ท้องเสียไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด อาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์

  1. มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะออกน้อยหรือสีเข้ม มีอาการสับสน หรือความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป
  2. อาเจียนหรือท้องเสียมีความรุนแรงมากหรือเป็นนานกว่า 2 วัน
  3. อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  4. คลื่นไส้ อาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้

 

ถาม : สาเหตุของโรต้าไวรัสเกิดจากอะไร

ตอบ : การติดเชื้อโรต้าไวรัสเกิดจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนโรต้าไวรัสจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยปริมาณเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการภายใน 2 วันหลังจากได้รับเชื้อ แม้ว่าการติดเชื้อโรต้าไวรัสจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่ก็อาจพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับเชื้อโรต้าไวรัสในวัยเด็กมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ที่เคยได้รับเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแล้ว นั่นเป็นสาเหตุว่า ถึงแม้จะรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเหมือนกัน บางคนมีอาการรุนแรง ในขณะที่บางคนกลับไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ถาม : ป้องกันการติดเชื้อโรต้าไวรัสได้อย่างไร

ตอบ : การป้องกันการติดเชื้อโรต้าไวรัสสามารถทำได้โดย

  1. ล้างมือด้วยสบู่ก่อนปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก มีกรรมวิธีการทำที่สะอาด
  3. รักษาสุขอนามัยส่วนตัว ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

 

ถาม : ใครคือกลุ่มเสี่ยงโรต้าไวรัสที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ตอบ : กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังโรต้าไวรัสมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุในสถานเลี้ยงดูหรือบ้านพักคนชรา

 

ถาม : หากติดเชื้อโรต้าไวรัสต้องทำการรักษาอย่างไร

ตอบ : อาการท้องเสียจากการติดเชื้อโรต้าไวรัสมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นด้วยตัวเอง แต่อาจจำเป็นต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำในกรณีที่มีภาวะขาดน้ำและไม่สามารถดื่มน้ำได้เพียงพอ สำหรับผู้ป่วยที่พอดื่มน้ำได้ให้ดื่มผงเกลือแร่ชงละลายน้ำ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้หรือซื้อยาแก้ท้องเสียรับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงหรือเป็นนานขึ้น

 

แม้อาการท้องเสียจากการติดเชื้อโรต้าไวรัสอาจสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการท้องเสียรุนแรงในลักษณะที่ควรรีบมาพบแพทย์ แนะนำให้รีบมาตรวจประเมินอาการทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด