กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ
ถ้าพูดถึงการบาดเจ็บจากการวิ่ง นักวิ่งหลายคนคงเคยมีประสบการณ์เจ็บบริเวณรอบข้อเข่าขณะวิ่ง ซึ่งพบว่าประมาณ 20% ของนักวิ่งเคยมีประสบการณ์การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าจากกระดูกอ่อนอักเสบ
อาการหลัก คือ เจ็บบริเวณรอบ ๆ ลูกสะบ้าหัวเข่า ช่วงแรกจะเจ็บเพียงเล็กน้อย เจ็บขณะวิ่ง แล้วค่อยเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะวิ่ง หรือแม้กระทั่งขณะพัก อาการจะเป็นมากถ้าวิ่งขึ้น – ลงเขา ขึ้น – ลงบันได นั่งนาน ๆ แล้วลุกขึ้น ปวดข้อพับด้านหลังข้อเข่า
ส่วนใหญ่พบว่ากลไกของการเคลื่อนไหวร่างกาย ท่าทางของการวิ่งที่ทำให้เท้าหันเข้าด้านในมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดบริเวณหัวเข่า ขาดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย (Core Body Muscle) กล้ามเนื้อต้นขา (Quadriceps) ไม่แข็งแรง บางครั้งเวลาเดินจะมีเสียงดังในข้อเข่า มักพบกระดูกอ่อนหัวเข่าอักเสบในการวิ่งลักษณะขึ้น – ลงเขา การเพิ่มระยะทางการวิ่งอย่างรวดเร็ว
ป้องกันรักษากระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ
-
ฝึกวิ่งโดยเพิ่มระยะทางการวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป
-
ก้าวขาขณะวิ่งให้แคบลงและให้งอเข่าเล็กน้อยเมื่อเท้าลงกระทบกับพื้น เพื่อช่วยลดแรงกระแทกบริเวณหัวเข่า พบว่าลดแรงกระแทกลงได้ถึง 30%
-
เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย
-
ประคบด้วยความเย็นหลังจากการวิ่งทุกครั้งเพื่อลดการอักเสบ
-
พบแพทย์เพื่อตรวจสอบท่าทางการเดิน ด้วยเครื่องประเมินการเคลื่อนไหว (Gait or Motion Analysis) เพื่อช่วยในการประเมินและปรับปรุงท่าทางการเดินและวิ่ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
กลับมาวิ่งอีกครั้งได้เมื่อไร
อาการกระดูกอ่อนอักเสบอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในการฟื้นฟู ข้อควรระวังคือไม่ควรวิ่งหากมีอาการเจ็บ หลังจากหยุดพักไปเมื่อกลับมาวิ่งอีกครั้งอาจรู้สึกข้อเข่าตึง ๆ เล็กน้อย เมื่อวิ่งไปแล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นก็สามารถวิ่งต่อไปได้ แต่หากวิ่งแล้วมีอาการปวดควรหยุดพักทันที และพักจนกว่าจะหายสนิท