กระดูกข้อไหล่เป็นข้อที่หัวกระดูกและเบ้าไม่ลึกมาก ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่อย่างหลวม ๆ โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ส่งผลให้ข้อไหล่เป็นข้อที่มีโอกาสเคลื่อนหลุดได้บ่อยกว่าข้ออื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้นกับข้อไหล่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรังและมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรค
3 โรคเกี่ยวกับข้อไหล่ที่พบมากและควรรู้ไว้เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที ได้แก่ ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator Cuff Tear) ข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder) และข้ออักเสบ (Arthritis)
1) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก
เป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดและไม่สามารถใช้งานไหล่ได้ปกติ ส่วนใหญ่เส้นเอ็นมักฉีกขาดบริเวณตำแหน่งที่เส้นเอ็นเกาะกับกระดูกต้นแขน (Humerus) ซึ่งอาจฉีกเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้
การฉีกขาดอาจเริ่มจากการถลอกบริเวณด้านบนของเส้นเอ็น (ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของหินปูนบริเวณกระดูกด้านบน (Acromion) กับตัวเส้นเอ็น) หรืออาจเกิดจากภาวะเสื่อม (Degeneration) ของเส้นเอ็น หรือเกิดจากการใช้งานหรืออุบัติเหตุ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางท่า อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่ เกิดเสียงเสียดสีในขณะขยับบางท่าของไหล่ การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่บาดเจ็บเป็นสำคัญ
การรักษาในปัจจุบันคือ การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเพื่อทำการซ่อมเอ็นที่มีการฉีกขาด (Minimally Invasive Surgery : MIS)
2) ข้อไหล่ติด
เป็นภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากไม่สามารถยก กาง หรือหมุนหัวไหล่ได้ ข้อไหล่จะค่อย ๆ ลดการเคลื่อนไหวจนกระทั่งเคลื่อนไหวได้น้อยลง และพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อไหล่มาก่อนและมีการหยุดเคลื่อนไหวข้อไหล่ไปชั่วคราวอาจมีโอกาสข้อไหล่ติดด้วยเช่นกัน ผู้สูงอายุมักมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าวัยอื่น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการอาจสะสมจนเป็นมากขึ้น
สาเหตุของข้อไหล่ยึดติดเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ข้อไหล่ ซึ่งเรียกว่า เยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบ โดยปกติเยื่อหุ้มข้อไหล่จะค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถขยายตัวหรือหดตัวตามการขยับของข้อไหล่ แต่เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่ติด เยื่อหุ้มข้อไหล่จะมีการอักเสบและหดตัวจนไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเดิม ทำให้ขยับข้อไหล่ได้น้อยลงและมีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ทั้งกลางวันและกลางคืนนานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังสามารถใช้งานแขนในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการเคลื่อนไหวที่กระดูกสะบักแทนการเคลื่อนไหวที่ข้อไหล่ อย่างไรก็ตามการพยายามดัดข้อไหล่แรง ๆ อาจทำให้การอักเสบเพิ่มขึ้นและอาจเกิดการบาดเจ็บของกระดูกและข้อได้
การรักษาคือ ต้องทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้นและลดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะอาการปวดเวลานอนด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้การติดยึดของข้อไหล่ลดน้อยลง เพิ่มการขยับให้มากขึ้น โดยอาจใช้ร่วมกับการประคบร้อน เย็น หรือทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) การทานยา หากอาการปวดรุนแรงเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ หรือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อขยายถุงหุ้มไหล่ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้นตามแต่สาเหตุของโรค
3) ข้อไหล่อักเสบ
ที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ
1) โรคข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบเรื้อรัง (Osteoarthritis)
เกิดจากความทรุดโทรมของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อกระดูกค่อย ๆ หายไป ทำให้ข้อกระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหวจนเกิดอาการข้อยึด ส่งผลให้ปวดบริเวณข้อ โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็น
2) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (The Rumatoid Arthritis)
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เกิดการทำลายข้อต่อกระดูกของตนเอง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยและเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคข้ออักเสบ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ หรือแม้แต่นักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงก็เป็นได้เช่นกัน ข้ออักเสบรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการลดกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบกับข้อ ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้กับข้อ เช่น การออกกำลังกายที่ระดับความหนักน้อย (Low – Intensity) เช่น การวิ่งจ็อกกิง ไปจนถึงระดับความหนักปานกลาง (Moderate – Intensity) เช่น การขี่จักรยาน เป็นต้น
หากเกิดอาการผิดปกติหรือข้อไหล่มีปัญหาควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพราะการซ่อมแซมข้อไหล่ส่วนที่เสียหายโดยเร็วจะช่วยลดความรุนแรง ทำให้ กลับไปใช้ชีวิตแบบคล่องตัวได้อีกครั้ง