กระดูกหักล้า การบาดเจ็บที่นักวิ่งไม่อยากเจอ

2 นาทีในการอ่าน
กระดูกหักล้า การบาดเจ็บที่นักวิ่งไม่อยากเจอ

กระดูกหักล้า (Stress Fracture) เป็นการบาดเจ็บจากการวิ่งที่พบได้ไม่น้อยในนักวิ่งมาราธอน และเป็นสาเหตุที่ทำให้นักวิ่งต้องหยุดพักนานที่สุดในบรรดาการบาดเจ็บทั้งหมด

 

กระดูกหักล้าคืออะไร

กระดูกหักล้า คือ การหักของกระดูกที่เกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ ออกกำลังกายหนักมาก ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและไม่สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทก เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนล้าแล้วจะส่งผลให้เพิ่มแรงกระทำมาที่กระดูกมากขึ้น ทำให้เกิดการแตกหักเล็ก ๆ ขึ้นภายในโครงสร้างของกระดูก 

 

สาเหตุและปัจจัยของกระดูกหักล้า

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดกระดูกหักล้าเป็นผลมาจากการเพิ่มระยะทาง เวลา และความรุนแรง (Intensity) ของการวิ่งอย่างรวดเร็ว หรือการออกกำลังกายในพื้นผิวที่ไม่คุ้นเคย เช่น เคยวิ่งในลู่วิ่งที่รองรับแรงกระแทก แล้วเปลี่ยนมาวิ่งบนถนนที่แข็ง รวมทั้งการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเท้าและการใช้งานก็อาจส่งผลให้เกิดกระดูกหักล้าได้

 

บริเวณกระดูกหักล้า

กระดูกหักล้าส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณกระดูกที่ต้องรองรับน้ำหนักและแรงกระแทก ซึ่งพบได้ในกระดูกขาส่วนล่างและกระดูกบริเวณเท้า พบได้บ่อยที่สุด คือ กระดูกหน้าแข้ง

 

basem

 

อาการกระดูกหักล้า

อาการของกระดูกหักล้า  คือ ปวดเมื่อมีกิจกรรม อาจไม่แสดงอาการปวดเวลาเดิน แต่อาการปวดจะเกิดขึ้นเมื่อวิ่ง หยุดวิ่งแล้วหายไป พอวิ่งอีกก็จะมีอาการปวดอีก จนไม่สามารถวิ่งได้ ต้องหยุดพัก เป็นอย่างนี้อยู่ซ้ำ ๆ ไม่ยอมหายไป

 

วินิจฉัยกระดูกหักล้า

การตรวจวินิจฉัยกระดูกหักล้าทำได้จากการซักประวัติถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดกระดูกหักล้าเช่น มีการออกกำลังกายที่เพิ่มระดับความแรงอย่างรวดเร็วร่วมกับการสแกนกระดูก (Bone Scan) เนื่องจากการแตกหักของโครงสร้างในกระดูกมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเห็นได้จากการทำเอกซเรย์ปกติ

 

รักษากระดูกหักล้า

การรักษากระดูกหักล้า คือ พักการใช้งานส่วนที่มีกระดูกหัก เพื่อให้กระดูกรักษาตัวเอง ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน ก่อนกลับมาออกกำลังกายหรือวิ่งอีกครั้งควรมั่นใจว่าไม่มีอาการปวดเหลืออยู่อีกเลย หากกลับไปวิ่งทั้งที่ยังมีอาการปวดอยู่อาจทำให้เกิดกระดูกหักล้ามากขึ้น และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้

 

ป้องกันกระดูกหักล้า

  • เพิ่มความแรง ระยะทาง และระยะเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการวิ่งหรือออกกำลังกาย
  • สับเปลี่ยนชนิดการออกกำลังกายแบบอื่นบ้าง เสริมสร้างความแข็งกล้ามเนื้อ และความยืดหยุ่นของร่างกายเพื่อช่วยป้องการการบาดเจ็บ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง
  • ใช้อุปกรณ์สำหรับการเล่นกีฬาที่เหมาะสม สวมใส่รองเท้าเหมาะกับสภาพเท้าและการใช้งาน
  • เมื่อมีอาการปวดบวมเกิดขึ้น ควรหยุดพัก 2 – 3 วัน ถ้าอาการปวดบวมยังไม่หายไปควรรีบรักษาทันที
Loading

กำลังโหลดข้อมูล