หูเป็นอวัยวะสำคัญที่เอาไว้ฟังเสียงต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อมีเสียงรบกวนในหูหลายคนมักชะล่าใจและคิดว่าหายได้เอง จึงปล่อยไว้จนรำคาญ ทุกข์ทรมาน และอาจร้ายแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อมีเสียงรบกวนในหูจนผิดสังเกต การพบแพทย์โดยเร็วที่สุดจะช่วยให้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับหูได้
เสียงรบกวนในหู
เสียงรบกวนในหูเป็นเสียงที่ได้ยินโดยไม่มีแหล่งกำเนิดเสียงจากภายนอก มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ได้แก่
- เสียงฮึมฮัม
- เสียงพรึบพรับ
- เสียงสะท้อน เสียงก้องในหู
- เสียงหึ่ง ๆ
- เสียงดังคลิก
- เสียงตุ้บ ตุ้บ เสียงฟู่ ตามจังหวะหัวใจหรือชีพจร
- เสียงคล้ายเครื่องจักร
- เสียงจิ้งหรีดร้อง
- เสียงลม
- เสียงวี้ด ๆ
ซึ่งเสียงดังรบกวนในหูของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามระดับเสียง มีตั้งแต่เสียงต่ำไปจนถึงเสียงสูง สามารถเกิดขึ้นได้กับหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และจะได้ยินเสียงชัดเจนที่สุดเมื่ออยู่ในสถานที่เงียบ ๆ
ปัญหาของเสียงรบกวนในหูที่ชัดเจนคือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น หงุดหงิด อ่อนเพลีย เครียด วิตกกังวล มีปัญหาด้านความจำหรือการนอนหลับ เป็นต้น
ต้นเหตุเสียงรบกวนในหู
ตัวการที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหูเกิดได้จากหลายปัจจัยและหลายสาเหตุ ได้แก่
- ขี้หูอุดตัน เนื่องจากการสะสมของขี้หูปริมาณมาก
- แก้วหูทะลุ เช่น หูน้ำหนวก
- แก้วหูอักเสบ จากหวัด ทำให้ท่อที่ต่อไปหูชั้นกลางอุดตัน เมื่อกลืนน้ำลาย ปรับลมไม่ได้จะเกิดอาการตื้อที่หู มีเสียงรบกวนในหูตามมาได้
- อาการทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง เป็นต้น
- ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแข็งตัว เส้นเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นประสาทหูที่เสื่อมลง
- เสียงดัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน จากงานคอนเสิร์ต เครื่องจักร อาวุธปืน ประทัด ฯลฯ
- ยา บางชนิดมีผลข้างเคียง ทำให้มีเสียงรบกวนในหูได้
- การเปลี่ยนแรงดัน เช่น ดำน้ำลึกเกินไปแล้วขึ้นที่สูง ร่างกายปรับแรงดันไม่ทัน กระทบแรงดันในหูชั้นกลาง ส่งผลถึงการทำงานของหูชั้นใน ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหู
- สาเหตุอื่น ๆ กระดูกในหูมีการงอกผิดปกติ, ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร, ไซนัสอักเสบ, หูติดเชื้อ, โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยเสียงรบกวนในหูสามารถทำได้โดย
- ซักประวัติ ระยะเวลาที่มีเสียงรบกวนในหู เสียงสูงหรือเสียงต่ำ เสียงดังกลางวันหรือกลางคืน
- ตรวจการได้ยิน โดยเครื่องไฟฟ้า เพื่อดูการบกพร่องทางการได้ยิน (Audiometry)
- ตรวจแยกเสียงและการได้ยินของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน โดยวัด SISI Score (Recruitment Test)
- ตรวจแยกเสียงและการได้ยินส่วนประสาทรับเสียง ความล้าของสมอง (Tone Decay Test)
- ตรวจวัดการได้ยินโดยวิธีพิเศษ เพื่อแยกตำแหน่งรอยโรค (Bekesy Audiomety)
- ตรวจวัดการได้ยินในระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response)
รักษาเสียงรบกวนในหู
วิธีการรักษาเสียงรบกวนในหูจะรักษาตามสาเหตุที่แท้จริงเป็นหลัก ได้แก่
- เลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ เสียงดัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- เครื่องช่วยฟัง ช่วยให้ได้ยินชัดเจนขึ้นและลดอาการเสียงรบกวนในหูได้
- กลบเสียงในหู ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ เปิดวิทยุ
การฟื้นฟูบำบัดด้วยยารักษา
- ยาคลายกังวล ยาขยายหลอดเลือด ยานอนหลับ ยาบำรุงประสาทหู ยาลดความไวประสาทหู เป็นต้น โดยต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด
- การผ่าตัดผูกเส้นเลือด ผ่าตัดเนื้องอกในสมอง
ดูแลสุขภาพหู
การดูแลสุขภาพหูเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ดังนี้
- อย่าฟังดังเกินไป / ฟังนานเกินไป
- ไม่ควรใส่หูฟังเวลานอนหลับ หรือในที่เสียงดังมากเนื่องจากต้องเร่งเสียงให้ดังขึ้น
- อย่าปั่นหรือแคะหู
การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบคือหัวใจสำคัญของการรักษาเสียงรบกวนในหู ดังนั้นหากได้ยินเสียงรบกวนในหูแล้วส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว เพราะการรักษาเสียงรบกวนในหูภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันแรกที่มีอาการช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากความผิดปกติได้มากยิ่งขึ้น