รักษาโรคนอนกรนในเด็กหรือต่อมอะดีนอยด์โต

3 นาทีในการอ่าน
รักษาโรคนอนกรนในเด็กหรือต่อมอะดีนอยด์โต

ปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เด็กประมาณ 3 – 12% พบมีอาการนอนกรนและพบบ่อยในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือในช่วงวัยอนุบาล ซึ่งปัจจุบันภาวะการนอนกรนที่เป็นอันตรายในเด็กพบมากขึ้นประมาณ 10% และมักพบในช่วงอายุก่อนวัยเรียนและช่วงวัยอนุบาล ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าสังเกต หากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น เป็นต้น ควรรีบเข้ารับการรักษาให้หายเพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในอนาคต

 

หยุดหายใจขณะหลับในเด็กรักษาได้

การรักษาภาวะเสี่ยงอาการหยุดหายใจขณะหลับในเด็กที่มักมีสาเหตุหลักจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตจากการอักเสบซ้ำ ๆ ของอาการภูมิแพ้หรือเป็นหวัดบ่อย ๆ แพทย์จะเริ่มต้นจาก

  1. ตรวจคัดกรอง แพทย์จะทำการตรวจสอบประวัติ ซักถามเพิ่มเติม หากพบว่าเด็กมีภาวะเสี่ยงของโรคจะทำการเอกซเรย์ในรายที่พบข้อสงสัย
  2. ตรวจ Sleep Test เพื่อทดสอบการนอนหลับข้ามคืนในโรงพยาบาล
  3. วินิจฉัยรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

 

ผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต

การผ่าตัดรักษาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 15 – 30 นาที โดยต่อมทอนซิลจะผ่าตัดผ่านทางช่องปากได้เลย แต่ต่อมอะดีนอยด์ที่อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูกด้านใน ต้องใส่สายยางเล็ก ๆ ผ่านทางจมูกเข้าไปเพื่อรั้งเพดานอ่อนขึ้นมา และใช้เครื่องมือกระจกมองสะท้อนจากทางช่องปากเพื่อทำการผ่าตัด ระยะเวลาในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับการอักเสบว่ามากน้อยเพียงใด เกิดพังผืดเยอะหรือไม่ และภายหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะให้นอนรอดูอาการในห้องพักฟื้นก่อนและอาจพักค้างที่โรงพยาบาล 1 คืน จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้

ปกติแล้วหน้าที่ของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์คือ การดักจับเชื้อโรคทางช่องปากไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ในอดีตหน้าที่หลักของต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ คือ การดักจับเชื้อโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคคอตีบ ไอกรน แต่ปัจจุบันเด็ก ๆ ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้กันครบทุกคน เพราะฉะนั้นหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรคของทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จึงไม่ใช่หน้าที่สำคัญหลัก ยังมีต่อมน้ำเหลืองตรงบริเวณโคนลิ้น และผนังคอด้านหลังที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลของผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน ที่กลัวว่าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของบุตรหลานได้ง่ายขึ้น

 

การดูแลหลังผ่าตัด

สิ่งที่คนไข้และผู้ปกครองต้องดูแลภายหลังการผ่าตัดคือ

  • ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่จะทำให้เกิดการระคายคอ แสบ และเจ็บแผลได้
  • ในช่วง 5 – 7 วัน แพทย์จะให้รับประทานเป็นอาหารเหลวและเย็น เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต น้ำหวาน เวลากลืนจะไม่ค่อยเจ็บเหมือนรับประทานของร้อน เพราะถ้าโดนความร้อนแล้วเส้นเลือดอาจขยายตัวจุดที่ผ่าตัดไว้อาจทำให้เลือดออกได้
  • เข้าสัปดาห์ที่ 2 อาการเจ็บจะน้อยลง แพทย์จะเริ่มให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แต่ให้รับประทานที่อุณหภูมิห้องได้ ยังห้ามรับประทานของร้อน     
  • แพทย์จะนัดคนไข้เพื่อติดตามอาการในสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดเพื่อตรวจแผลและนัดติดตามอาการในอีก 2 เดือนเพื่อดูเรื่องการนอนหลับในเด็กว่าดีขึ้นหรือไม่

 

คุณภาพการนอนเด็กดีขึ้น

การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ในรายที่มีต่อมทอนซิล (Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) โต จะช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ 75 – 100% มีการศึกษาว่าการตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จะช่วยให้

  • คุณภาพการนอนหลับของเด็กดีขึ้น
  • สุขภาพและพฤติกรรมของเด็กดีขึ้น
  • การควบคุมการทำงานของสมองดีขึ้น
  • การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ และสมาธิดีขึ้น


ในรายที่มีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ไม่สามารถผ่าตัดได้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีเช่นกัน โดยเครื่องอัดแรงดันบวกทำงานโดยการเป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากที่ผู้ป่วยสวมขณะหลับ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีไหนนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา นอกจากนี้การรักษาอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ เช่น ในรายที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนักหรือออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ซึ่งนับเป็นเป้าหมายการรักษาในระยะยาวต่อไป

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หู คอ จมูก

ชั้น 7 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ



วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น

วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด