อ้วนทำไมเสี่ยงไส้เลื่อนซ้ำ

2 นาทีในการอ่าน
หรือ
rifm-iconrifm-play-icon
ฟัง AI สรุปให้
อ้วนทำไมเสี่ยงไส้เลื่อนซ้ำ

แชร์

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าไส้เลื่อนนั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก โดยอาจเป็นซ้ำในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นหลังผ่าตัดเนื่องจากผู้ป่วยเบ่งขณะขับถ่ายเป็นประจำ ยกของหนัก สูบบุหรี่เป็นประจำ อีกทั้งผู้สูงอายุที่เนื้อเยื่อไม่แข็งแรง และคนอ้วนก็มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ 

 

ไส้เลื่อนซ้ำ

เพราะโรคไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงโดยมีก้อนไส้เลื่อนที่ตุงนูนยื่นออกมา ไส้เลื่อนมีหลายชนิดโดยแบ่งตามอวัยวะที่เคลื่อนที่ไปอยู่ ได้แก่ ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ไส้เลื่อนที่สะดือ ไส้เลื่อนกระบังลม ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน และไส้เลื่อนที่เกิดจากแผลผ่าตัด หากไส้เลื่อนไม่สามารถดันกลับที่เดิมได้ก็อาจร้ายแรงเป็นไส้เลื่อนติดคาและลำไส้อุดตันในที่สุด การรักษาไส้เลื่อนทำได้โดยการผ่าตัดเท่านั้น โดยมีทั้งผ่าตัดเปิดหน้าท้องและผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก แต่เมื่อผ่าตัดรักษาเป็นที่เรียบร้อยผู้ป่วยไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะไส้เลื่อนสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หากดูแลตัวเองไม่ดี ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมที่ไม่ระวัง อีกทั้งความอ้วนก็เป็นสาเหตุให้ไส้เลื่อนซ้ำได้

 

อ้วนเสี่ยงไส้เลื่อนซ้ำ

สำหรับคนอ้วนนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นไส้เลื่อนซ้ำและอาจเป็นในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นได้ เพราะคนอ้วนจะมีหน้าท้องหรือที่เรียกว่าลงพุง ทำให้เนื้อเยื่อผนังหน้าท้องอ่อนแอมากกว่าคนที่ไม่อ้วน ดังนั้นหลังผ่าตัดทำการรักษาไส้เลื่อนไปแล้ว หากดูแลตนเองได้ไม่ดี ปล่อยให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ และทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูง ก็อาจกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ โดยเฉพาะไส้เลื่อนบริเวณสะดือพบบ่อยในคนอ้วนลงพุงไม่ว่าจะชายหรือหญิง

 

อ้วน, ไส้เลื่อนซ้ำ

 

ผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนซ้ำ

การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนซ้ำสามารถทำได้โดย

  1. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง เพื่อทำการปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดีคือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดมยาสลบหรือบล็อคหลังได้  
  2. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วย Mesh Repair แผ่นตาข่ายสังเคราะห์ที่มีความกว้างยาวประมาณ 10 x 15 เซนติเมตร (ขนาดใหญ่) ช่วยลดอาการตึงเจ็บและลดโอกาสการเป็นไส้เลื่อนซ้ำ โดยทั่วไปใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 45 – 60 นาที รอยแผลมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อย ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ฟื้นตัวได้เร็ว 

 

ไม่มีใครอยากเป็นไส้เลื่อน ยิ่งไส้เลื่อนซ้ำที่มีโอกาสเป็นซ้ำในที่เดิมหรือบริเวณใหม่ ดังนั้นการหมั่นตรวจเช็กสุขภาพประจำปี  ออกกำลังกายฟิตหุ่นให้สมดุล ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เลี่ยงยกของหนัก งดสูบบุหรี่ หากไอติดต่อกันนานผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที ย่อมช่วยไม่ให้ต้องกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำอีกครั้ง

ข้อมูลโดย

Doctor Image
ศ. นพ. สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์

เวชศาสตร์ครอบครัว, ศัลยศาสตร์

ศ. นพ. สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์

เวชศาสตร์ครอบครัว, ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แชร์

แชร์