ผู้หญิงไม่มีอาการ ใช่ว่าไม่เป็นมดลูกโต

3 นาทีในการอ่าน
ผู้หญิงไม่มีอาการ ใช่ว่าไม่เป็นมดลูกโต

ผู้หญิงหลายคนอาจไม่เคยรู้จักโรคมดลูกโต หรือหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าเนื้องอกมดลูกกับมดลูกโตใช่โรคเดียวกันหรือไม่ ความจริงแล้วโรคมดลูกโตกับเนื้องอกมดลูกนั้นเป็นคนละโรคกัน ดังนั้นหากประจำเดือนมากผิดปกติและมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ อาจเป็นสัญญาณของโรคมดลูกโตได้ หรือที่น่ากังวลใจยิ่งกว่านั้นคือ แม้ไม่มีอาการแสดงผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นมดลูกโตได้เช่นกัน

 

รู้จักมดลูกโต

โรคมดลูกโตพบได้จากหลายสาเหตุหลัก ได้แก่ เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งในระบบสืบพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis) คือ การที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญหรือแทรกซึมเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังจนเกิดพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก สุดท้ายมดลูกเกิดการขยายตัวและหนาขึ้น เกิดภาวะมดลูกโต ทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ และอาการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ที่สำคัญคือโรคมดลูกโตนั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากผู้ป่วยมีกรรมพันธุ์หรือเคยทำการผ่าตัดเกี่ยวกับมดลูกอาจทำให้เป็นโรคมดลูกโตได้ นอกจากนี้การหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนหรือผู้หญิงที่ตัดมดลูกทิ้งจึงหมดโอกาสเป็นโรคมดลูกโต


อาการบอกมดลูกโต

อาการของโรคมดลูกโตแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ประกอบไปด้วย

  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหว
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปองออกมาขณะมีประจำเดือน
  • มีอาการคล้าย ๆ ตกเลือดขณะมีประจำเดือน
  • ปวดเชิงกรานและช่องท้อง
  • รู้สึกแน่นและหนักบริเวณช่องท้องส่วนล่าง
  • เจ็บปวดมากขณะมีเพศสัมพันธ์


นอกจากนี้เมื่อมดลูกโตอาจส่งผลให้มีอาการท้องอืดหรือท้องผูก เพราะมดลูกโตจนเบียดลำไส้ ปัสสาวะบ่อยเพราะมดลูกเบียดกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งอาจมีอาการร่วมด้วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปวดหลัง ปวดกระดูกเชิงกราน ตะคริวบริเวณท้อง เลือดออกจากช่องคลอด รวมถึงมีบุตรยาก เพราะการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์


image

ตรวจวินิจฉัยมดลูกโต

การตรวจวินิจฉัยโรคมดลูกโตสามารถทำได้โดย

  1. ซักประวัติโดยสูติ – นรีแพทย์อย่างละเอียด
  2. สูติ – นรีแพทย์ตรวจภายใน
  3. อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน        
  4. ตรวจ MRI ช่องท้องส่วนล่าง (MRI Lower Abdomen) ในกรณีที่ต้องการยืนยันและหรือประเมินความรุนแรงของโรคว่าเกิดพังผืดต่ออวัยวะข้างเคียงหรือไม่

ดูแลรักษามดลูกโต

ในกรณีที่มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นสูติ – นรีแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่

  • ทานยาพอนสแตน (Ponstan) และ/หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยให้อาการปวดและการอักเสบดีขึ้น
  • ใช้ Progestin Only Hormone และ/หรือยาคุมกำเนิดเพื่อลดอาการปวด และช่วยให้ปริมาณรอบเดือนมาน้อยลง ชะลอการเติบโตของพังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก
  • หากมีอาการรุนแรงสูติ – นรีแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดมดลูก ซึ่งปัจจุบันด้วยการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง (MIS – Advanced Minimal Invasive Surgery) ทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แผลมีขนาดเล็กเพียง 5 – 10 มม. ที่สำคัญเสียเลือดน้อย ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อ ฟื้นตัวเร็วใน 1 – 2 วัน และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ ลดความกังวลและเพิ่มความมั่นใจในการเข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี

ป้องกันมดลูกโต

อย่างที่ทราบกันว่าสาเหตุของโรคมดลูกโตเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นไม่แน่ชัด แต่การป้องกันดูแลด้วยการควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินเกณฑ์ ตรวจร่างกายและตรวจภายในกับสูติ – นรีแพทย์เป็นประจำทุกปี รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมตามคำแนะนำของสูติ – นรีแพทย์จะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติและรับมือได้ทันท่วงที


image

แบบไหนเรียกประจำเดือนเป็นปกติ

  • ประจำเดือนมาไม่เกิน 80 ซีซีต่อวัน
  • ประจำเดือนมามากเฉพาะช่วง 3 วันแรก
  • ประจำเดือนมาไม่เกิน 7 วัน
  • ลิ่มเลือดระหว่างมีประจำเดือนขนาดเท่าเม็ดถั่ว

 

ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมดลูกโตนั้นมักไม่ทราบอาการจนเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรง ดังนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอยู่เสมอคือสิ่งสำคัญ และควรใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพภายในกับสูติ-นรีแพทย์อย่างสม่ำเสมอ


Clip VDO

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล