ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

การใช้บริการเครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ (Aquatic Treadmill)


เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ

เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ (Aquatic Treadmill) ผสานคุณประโยชน์ของการออกกำลังกายแบบวิ่งบนสายพานและประโยชน์ของการบำบัดในน้ำเพื่อลดการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและกล้ามเนื้อ รวมถึงเพื่อการออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปรับระดับความลึกตามแผนการรักษาที่แพทย์กำหนดไว้ให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ที่มาออกกำลังกาย รวมถึงปรับความเร็วและความชันของสายพานตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยมีจอแสดงภาพให้เห็นการเคลื่อนไหวของขาขณะใช้งาน เป็นการประเมินผลขณะฝึก ทำให้ปรับท่วงท่าการยืนและการเดินให้ถูกต้องได้ทันที เป็นอีกทางเลือกเสริมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูร่างกาย นักกีฬา คนอ้วน หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการออกกำลังกาย


แพ็กเกจฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังติดเชื้อ COVID-19

จุดเด่นของ Aquatic Treadmill

เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ (Aquatic Treadmill) มีลักษณะเป็นเครื่องออกกำลังแบบสายพานวิ่งอยู่ในน้ำ ใช้น้ำเป็นสื่อกลางในการรักษา เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ช่วยผู้ป่วยได้ มีจุดเด่นดังนี้

  • ความหนาแน่น (Density) และแรงลอยตัว (Buoyancy) ของน้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างอิสระ ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อต่าง ๆ ลดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ดีกว่าบนบก 
  • แรงดัน (Hydrostatic Pressure) ของน้ำ ช่วยลดอาการบวมตามแขนและขาต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ 
  • แรงต้าน (Resistance) ของน้ำ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เสมือนยกน้ำหนักบนบก และสามารถเพิ่มความทนทานของร่างกายได้ 
  • ความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับพลังงานกล (Thermodynamics) น้ำเป็นสื่อนำความร้อนและเย็นได้ดี เมื่อใช้น้ำอุ่นจะเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ร่างกายผู้ป่วยผ่อนคลาย ลดอาการเกร็งและอาการปวดต่าง ๆ ได้

ประโยชน์ของ Aquatic Treadmill

  • ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อต่าง ๆ โดยใช้แรงลอยตัวของน้ำ
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยใช้แรงต้านของน้ำ ระบบกระแสน้ำ (Jet Stream) และปรับความเร็วและความชันของสายพาน
  • ช่วยในการออกกำลังกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมของน้ำ 
  • ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ลดความเจ็บปวด รู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้น 
  • เพิ่มการทรงตัวให้ดีขึ้นและการเคลื่อนไหวในน้ำที่สัมพันธ์กันของร่างกาย 

กลุ่มที่เหมาะกับ Aquatic Treadmill

  • บุคคลทั่วไป สมาชิกในครอบครัวที่รักสุขภาพ หรือนักกีฬาที่ต้องการเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
  • ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีภาวะเสี่ยงต่อการล้ม ยืน หรือเดินไม่มั่นคง
  • ผู้ป่วยที่ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกหัก
  • ผู้ป่วยก่อนหลังผ่าตัดข้อเข่า ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
  • คนอ้วนที่ต้องการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายโดยข้อไม่บาดเจ็บ

เตรียมตัวก่อนรับบริการ Aquatic Treadmill

  1. เปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสบู่ก่อนใช้เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ (Aquatic Treadmill) ทุกครั้ง โดยชุดที่สวมใส่ควรเป็นผ้าที่ไม่มีใยผ้าหลุดรุ่ย ไม่ซับน้ำ สะดวกต่อการเคลื่อนไหว เช่น ชุดว่ายน้ำ เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา เป็นต้น  
  2. การใช้เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ (Aquatic Treadmill) ใช้เวลาครั้งละ 20 – 30 นาที
  3. กรณีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย ต้องมีญาติที่ดูแลประจำใกล้ชิดหรือผู้ติดตาม ผู้ช่วยเหลือมาดูแลด้วยทุกครั้งเพื่อช่วยในการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
  4. แจ้งนักกายภาพบำบัดทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก เหนื่อยมาก เวียนศีรษะ หรือปวดท้องถ่าย ฯลฯ
  5. ห้ามปัสสาวะลงในน้ำหรือในห้องอาบน้ำ ญาติผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือสามารถเข้ามารอด้านในได้ไม่เกิน 1 – 2 ท่าน ห้ามตะโกนเสียงดัง

ข้อห้าม Aquatic Treadmill

  • ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้
  • มีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • บาดแผลเปิด
  • ภาวะโรคติดเชื้อทางผิวหนัง
  • โรคหัวใจ โรคลมชัก
  • ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน
  • สัญญาณชีพผิดปกติ เช่น อุณหภูมิ การหายใจ และความดันโลหิตผิดปกติ

ข้อควรระวัง Aquatic Treadmill

  • ผู้ใช้บริการต้องทรงตัวได้ในระดับปานกลาง (Fair) ขึ้นไปจนถึงระดับดี โดยได้รับการประเมินจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เนื่องจากผู้ใช้บริการต้องอยู่ภายในตัวเครื่องตามลำพัง โดยมีนักกายภาพบำบัดคอยดูแลอยู่ภายนอกตัวเครื่องตลอดช่วงที่ใช้เครื่องอยู่  
  • กรณีผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี จะมีนักกายภาพบำบัดอยู่ภายในตัวเครื่องด้วยเพื่อช่วยในการใช้เครื่อง

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 3 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R)

โทร. 0 2310 3000 

Add line : https://lin.ee/Y67spls

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

ชั้น 3 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R)

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด