การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
หากผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจากโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อไต เป็นต้น จำเป็นจะต้องบำบัดทดแทนไตด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) เพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง โดยแพทย์จะนำไตใหม่ซึ่งได้จากผู้บริจาคใส่เข้าไปบริเวณช่องท้องของผู้รับบริจาค โดยไม่ได้ตัดไตเดิม ซึ่งอยู่ด้านหลังของช่องท้องออก นอกจากมีข้อบ่งชี้ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดหรือกีดขวางการผ่าตัด เช่น ติดเชื้อเรื้อรัง หรือมีถุงน้ำขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นต้น
ข้อดีของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ไม่ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง
- เนื่องจากสมดุลเกลือแร่และน้ำดีขึ้น จึงจำกัดอาหารน้อยลง สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้มากขึ้น
- ร่างกายแข็งแรงขึ้น ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ คุณภาพชีวิตดีขึ้น
- มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว
- ผู้ป่วยในวัยเจริญพันธุ์สามารถมีบุตรได้ตามปกติ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- อาจเกิดภาวะเสี่ยงในการผ่าตัด เช่น เสียเลือด เป็นต้น
- ก่อนและหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- เนื่องจากต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารสุก สะอาด งดอาหารดิบ ผลไม้ดิบ ผักสด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- หลังจากผ่าตัดปลูกถ่ายไต บางครั้งยังผ่าตัดไม่เรียบร้อยก็ปฏิเสธไตได้
ข้อห้ามการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- โรคไตที่การทำงานของไตสามารถฟื้นได้
- ภาวะติดเชื้อที่ยังไม่สงบ (Active Infection)
- โรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการรักษา (Active Malignancy)
- ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชซึ่งไม่สามารถควบคุมอาการได้
- ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาหรือมีแนวโน้มไม่สามารถรับประทานยาได้ตามเป้าหมาย
- ผู้ป่วยที่คาดว่ามีอัตรารอดชีวิตไม่เกิน 1 ปี
การประเมินก่อนเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ประเมินความพร้อมในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต สุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะผ่าตัด
- ประเมินโรคไตบางชนิดที่สามารถกลับเป็นซ้ำได้หลังจากการปลูกถ่ายไต
- ประเมินโรคประจำตัวของผู้ป่วยและตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
รูปแบบการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยไตผู้บริจาคสมองตาย(Deceased Donor Kidney Transplantation: DDKT)
ไตที่จะได้รับจากผู้บริจาคมาจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย สภากาชาดจะเลือกไตให้แก่ผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคไตซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุด - การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต(Living Donor Kidney Transplantation: LDKT)
ผู้บริจาคไตที่มีชีวิต (LRKT) มี 2 กลุ่ม ได้แก่- ผู้บริจาคไตที่มีชีวิต มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้รับบริจาค (Living Related Donor)
- ผู้บริจาคไตที่มีชีวิต ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้รับบริจาค (Living – Unrelated Donor ) ได้แก่ สามี ภรรยา (Spouse Donor)
ข้อดีของการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต คือ เมื่อเปรียบเทียบกับไตจากผู้บริจาคสมองตายพบว่า มีค่าการทำงานของไตดีกว่า อายุการใช้งานยาวนานกว่า โดยเฉพาะไตจากผู้บริจาคมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดจะดีกว่าสามีภรรยา เนื่องจากมีความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อมากกว่า
คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
- มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 20 ปี และไม่ควรมีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งตามกฎของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยกำหนดถึงอายุ 70 ปี
- ไม่ควรมีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมยาก
- ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ไม่มีโรคเบาหวาน
- ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
- มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมง
- มีค่าการทำงานของไต (GFR) มากกว่า 80 ml/min/ 1.73 m²
- ไม่มีภาวะโรคอ้วนอันตราย (ค่า BMI ไม่มากกว่า 35 kg/m²)
- ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม
- ผลการตรวจหาเชื้อ เอช ไอ วี เป็นลบ (Negative test for anti-HIV)
- เต็มใจบริจาคและต้องมีการเซ็นใบยินยอมการบริจาค (Informed consent)
- ผ่านการประเมินทางจิตเวชก่อนให้บริจาค
- ต้องเป็นญาติทางสายเลือดที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือทางกฎหมาย
- ต้องไม่เป็นการซื้อขายไตหรือได้รับการจ้างวาน
- ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริจาคและผู้บริจาคเป็นไปตามกฎของศูนย์รับบริจาค
- ผู้บริจาคต้องใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังบริจาค
ตรวจประเมินก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำหรับผู้บริจาค
- ตรวจเลือด ดูการทำงานของไต – ตับ ความเข้มข้นของเลือด ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ซีเอ็มวีไวรัส เอชไอวี เป็นต้น
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินว่ามีโปรตีน น้ำตาล รั่วในปัสสาวะหรือไม่ หรือมีความผิดปกติอื่นใดหรือไม่ และเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อดูอัตราการกรองของเสีย 24 ชั่วโมง
- เอกซเรย์ปอดเพื่อดูลักษณะและการทำงานของหัวใจและปอด
- การตรวจหัวใจ เริ่มแรกจะมีการตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อดูการทำงานของหัวใจ หากมีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจอัลตราซาวนด์คลื่นเสียง และ/หรือวิ่งสายพานเพื่อดูความพร้อมของหัวใ ว่าจะสามารถบริจาคไตได้หรือไม่
- ตรวจเลือดเพื่อเปรียบเทียบเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาคไตและผู้รับไต
- อัลตราซาวนด์โดยแพทย์แผนกรังสี เพื่อประเมินความผิดปกติภายในช่องท้อง โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงวางบริเวณหน้าท้อง
- ตรวจประเมินกับจิตแพทย์เพื่อดูความพร้อมทางด้านจิตใจ
- ตรวจประเมินกับอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด
ข้อควรปฏิบัติระหว่างรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ส่งเลือดทุกเดือน เพื่อให้พร้อมใช้ในการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อจากไตผู้บริจาค
- ตรวจตามนัด หากไม่สามารถมาได้ตามวันที่นัดให้โทรมาเลื่อนนัดกับเจ้าหน้าที่ หากขาดการมาตรวจตามนัดเกิน 1 ปี จะถูกตัดสิทธิ์จากการเป็นผู้รอไต
- หากมีอาการเจ็บป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด
- ถ้ามีฟันผุต้องได้รับการรักษาก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยทุก 12 เดือน
- ดูแลตัวเองให้มีความพร้อมตลอดเวลา รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ไปสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค
- เตรียมพร้อมเพื่อรับการติดต่อจากพยาบาลผู้ประสานงาน โดยต้องพร้อมสำหรับการปลูกถ่ายไตตลอด 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นต้องให้เบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา ห้ามปิดโทรศัพท์ หากมีการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรต้องโทรแจ้งพยาบาลที่หน่วยพยาบาลประสานงานและบริการการปลูกถ่ายอวัยวะทันที
การปฏิบัติตัวหลังได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- เข้ารับการตรวจตามนัดหมายทุกครั้งหลังผ่าตัด 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุก ๆ 1 ปีกับแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อติดตามและประเมินภาวะสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจกับอายุรแพทย์โรคไต เพื่อประเมินค่าการทำงานของไต ระดับยากดภูมิคุ้มกัน และประเมินภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
- รับประทานยากดภูมิตามที่แพทย์แนะนำ และรับประทานยาสม่ำเสมอและถูกต้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สุก สด ใหม่ สะอาด
- ควบคุมโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นความเบาหวาน ความดันโลหิต เป็นต้น