ตาพร่ามัว ต้อกระจกอาจถามหา

3 นาทีในการอ่าน
ตาพร่ามัว ต้อกระจกอาจถามหา

หากพูดถึงโรคต้อกระจก หลายคนมักคุ้นเคยและเข้าใจว่าเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่อายุตั้งแต่ 40 เป็นต้นไป และอาจเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยได้จากการใช้สเตียรอยด์และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลเสียต่อดวงตา ซึ่งอาการที่เป็นสัญญาณเตือนคือ ตาพร่ามัวและจะพร่ามัวลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการรู้เท่าทันเพื่อรับมือโรคต้อกระจกคือสิ่งที่ควรใส่ใจก่อนสูญเสียดวงตาที่คุณรัก

 

ต้อกระจกคืออะไร

โรคต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้แสงเข้าไปในดวงตาน้อยลง จอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจน การมองเห็นลดลงเรื่อย ๆ แม้โรคนี้จะไม่แพร่กระจายจากอีกข้างไปสู่อีกข้าง แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรงอาจทำให้มองไม่เห็นได้ในที่สุด

ตาพร่ามัว, ต้อกระจก

ตัวการต้อกระจก

ต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัยเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยจะพบตั้งแต่อายุ 40 – 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงและควบคุมได้ไม่ดีพอจะกระตุ้นเลนส์ให้ขุ่นขึ้นได้เร็วกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกันแต่ไม่เป็นโรคเบาหวาน
  • การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์อาจกระตุ้นต้อกระจกบางชนิดได้
  • อุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกบริเวณดวงตา
  • การสูบบุหรี่
  • การเผชิญกับแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการป้องกัน
  • ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

 

อาการต้อกระจกเป็นอย่างไร

  • ตาจะค่อย ๆ มัวลงอย่างช้า ๆ
  • ตามัวเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง
  • เห็นภาพซ้อน 
  • เห็นแสงไฟกระจาย
  • มองภาพเป็นสีเหลือง
  • เปลี่ยนแว่นตาบ่อย

วิธีการรักษาต้อกระจก

ปัจจุบันการรักษาต้อกระจกมีทั้งการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดและการผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่

  1. การรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด ได้แก่ เปลี่ยนแว่นตา สวมแว่นกันแดด
  2. การผ่าตัดต้อกระจกทำได้ด้วยการ
    • ผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) โดยการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปสลายเลนส์ตาที่ขุ่นหรือต้อออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นานประมาณ 15 – 30 นาที แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 3 – 5 มิลลิเมตร ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ทันที ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการใส่เลนส์เทียม เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงเกิดภาวะม่านตาอักเสบ ต้อหินแทรกซ้อน หรือเบาหวานขึ้นตารุนแรง หลังจากลอกต้อกระจกอาจต้องใช้เลนส์สัมผัสหรือใส่แว่นตา โดยแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้พิจารณาการผ่าตัดรักษาตามอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
    • ผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมากจนไม่สามารถสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกต าเพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก ก่อนใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วเย็บปิดแผลให้สนิท

 

การดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจกทำอย่างไร

การปฏิบัติตัวหลังผ่าต้อกระจก สิ่งสำคัญคือการระวังไม่ให้ติดเชื้อและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจักษุแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลเป็นระยะ ได้แก่

  • สวมที่ครอบตาจนกว่าแพทย์จะให้เอาออก
  • ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง
  • ระวังการโดนลม ฝุ่น และแสงจ้า
  • อย่าให้ดวงตาโดนน้ำ
  • ห้ามขยี้ตา
  • เลี่ยงกิจกรรมที่กระทบกระเทือนดวงตาตามคำแนะนำของแพทย์

ทั้งนี้หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ปวดตา ตาแดง มองเห็นแสงวูบวาบ มองเห็นจุดสีดำ เห็นภาพไม่ชัดเจน ฯลฯ ควรกลับมาพบแพทย์ทันที 

 

ตาพร่ามัว, ต้อกระจก

ป้องกันโรคต้อกระจกได้อย่างไร

โรคต้อกระจกไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากความเสื่อมตามวัย แต่สามารถดูแลดวงตาเพื่อยืดอายุความแข็งแรงและชะลอการเกิดโรคต้อกระจกได้ดังนี้

  • สวมแว่นกันแดด เลี่ยงแสงแดดจ้า
  • ผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ
  • งดการสูบบุหรี่
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์
  • ตรวจสุขภาพดวงตาทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป 

 

เพราะโรคต้อกระจกพบได้บ่อยในทุกครอบครัว พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพแนะนำว่า “หากอายุครบ 40 ปีควรมาตรวจตาปีละ 1 ครั้ง และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตา หากตามัวลงหรือสายตาเปลี่ยนจนผิดสังเกตควรต้องรีบมาทันที และสำหรับคนที่พบว่าตนเองเป็นต้อกระจกควรรีบเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยไว้จนรุนแรงเพราะอาจมีต้อหินแทรกซ้อนได้ ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตาและสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทุกช่วงวัย”

 

โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาต้อกระจกที่ไหนดี

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลทุกปัญหาดวงตาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาต้อกระจก โดยเฉพาะการผ่าตัดด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) และการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เพื่อให้สุขภาพดวงตากลับมาแข็งแรง มั่นใจทุกการมองเห็น

 

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาต้อกระจก

พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางโรคต้อหิน โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

 

แพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจก

แพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจก ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ ราคาเริ่มต้นที่ 70,000 บาท

ดูแพ็กเกจผ่าตัดต้อกระจกเพิ่ม คลิก

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด