เบาหวานกับผู้สูงวัย

2 นาทีในการอ่าน
เบาหวานกับผู้สูงวัย

สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มตัวและปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอายุยืนยาวแค่ไหนคงไม่สำคัญเท่าการมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความสุขในทุกวันของชีวิต


ความเสื่อมกับเบาหวาน

เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมในระบบต่าง ๆ ของร่างกายย่อมตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม กายภาพกล้ามเนื้อและมวลกระดูกลดลง  การเผาผลาญลดลง ส่งผลให้ผู้สูงวัยมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้มากกว่าคนอายุน้อยที่เป็นโรคเบาหวาน       

ในทางกลับกันโรคเบาหวานที่คุมไม่ดีในผู้สูงวัยก็ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมถอยมากกว่าผู้สูงวัยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน และส่งผลให้การได้ยินลดลง เกิดโรคต้อหิน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงส่งผลต่อสมอง ทำให้การรับรู้ ความเข้าใจ และความจำลดลง


การรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย

ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานมีการพัฒนาทั้งตัวยารักษาและการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการรักษา ทำให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลรักษาโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการเสื่อมถอยและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ดี

การรักษาควรเริ่มต้นจากการร่วมวางแผนการรักษาด้วยกัน ทั้งผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน ลูกหลาน และคนดูแล รวมถึงแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพมีการกำหนดเป้าหมายในการคุมเบาหวานว่าต้องเข้มงวดมากแค่ไหน ควรมีค่าน้ำตาลสะสมเท่าไร (HbA1c)  อาหารที่เหมาะสมในการรับประทานควรเป็นอย่างไร ตลอดจนการทำแบบประเมินการรับรู้เข้าใจของสมองและภาวะจิตใจ การประเมินการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งผู้สูงวัยแต่ละคนแต่ละครอบครัวมีสุขภาพร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิตแตกต่างกันจึงควรวางแผนเฉพาะการรักษาเฉพาะบุคคลเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา


เบาหวานกับผู้สูงวัย
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย

การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย สิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือ

  • ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เพราะภาวะน้ำตาลต่ำมีผลกระทบทันทีต่อการรับรู้ของสมองและหัวใจ   แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วควรดูแลแก้ไขให้ทันท่วงที โดยรีบรับประทานแป้งหรือน้ำตาลแล้วหลังจากนั้นปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม
  • เลือกใช้ยาที่มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำน้อยเป็นอันดับแรก หากคุมไม่ได้ค่อยเลือกยาที่ลดน้ำตาลได้มากหรือฉีดยาอินซูลิน
  • ควบคุมรักษาโรคร่วมอื่น ๆ ให้ดี การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย นอกจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้องควบคุมรักษาโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคฟันผุ รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อด้วย    


การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นผู้สูงวัยมีความแตกต่างกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุน้อย โดยจำเป็นจะต้องพิจารณาการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานเฉพาะบุคคลกับทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ ร่วมกับคนในครอบครัวและคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการเลี่ยงอาหารรสหวาน เลือกอาหารกากใยสูง ไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ย่อมช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล

อายุรศาสตร์

อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
พญ. รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล

อายุรศาสตร์

อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ

ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด