ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

3 นาทีในการอ่าน
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน


ความเชื่อ 1 :
รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้เป็นเบาหวาน

ความจริง : โรคเบาหวานมี 2 ชนิด คือ เบาหวานประเภทที่ 1 (Diabetes Type1) เกิดจากสาเหตุพันธุกรรมและยังไม่ทราบปัจจัยแน่ชัด ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes Type2) เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีผลให้การสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน  การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นเวลานานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเบาหวานได้  หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอ นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง



ความเชื่อ
2 : เบาหวานเป็นโรคของคนแก่

ความจริง : โรคเบาหวานสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคเบาหวาน เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กหรือคนอายุน้อย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง



ความเชื่อ
3 : คนที่เป็นเบาหวานจะรู้ตัวหากมีน้ำตาลในเลือดต่ำ


ความจริง :
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวเย็น เหงื่อออก อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง ปากแห้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรืออาการแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกัน จึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และรีบแก้ไขทันที เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลให้เกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตได้



ความเชื่อ
4 : เบาหวานเป็นโรคไม่น่ากลัว ใคร ๆ ก็เป็นกัน

ความจริง : เบาหวานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้เบาหวานเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และพบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจและเป็นเบาหวานร่วมด้วยมีความเสี่ยงเกิดอาการหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าเกือบ 2 เท่าของคนที่ไม่เป็นเบาหวานร่วมด้วย นอกจากนี้หากการควบคุมเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ตาบอด ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เซลล์ประสาทถูกทำลาย เป็นต้น



ความเชื่อ
5 : ถ้าเป็นเบาหวานห้ามกินขนมหวานหรืออาหารที่มีความหวาน


ความจริง :
เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นผลให้เกิดเบาหวาน คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าควรงดอาหารที่มีความหวานหรือมีน้ำตาล อย่างไรก็ตามหากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกาย การรับประทานผลไม้หรือขนมหวานก็ยังสามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป



ความเชื่อ 6
: หากเป็นเบาหวานห้ามให้เลือด

 

ความจริง : ถ้าเป็นเบาหวานสามารถให้เลือดได้ ถ้าการควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้รับบริจาคโลหิตอีกครั้ง



ความเชื่อ
7 : เบาหวานเป็นโรคของคนอ้วน

 

ความจริง : ไม่ว่าคนอ้วนหรือคนผอมก็สามารถเป็นเบาหวานได้ เพราะเบาหวานเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารมีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง และไม่ออกกำลังกาย ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดเบาหวานได้ แต่พบว่าคนอ้วนเป็นเบาหวานมากกว่า เนื่องจากพฤติกรรมการกิน และการวิจัยพบว่าในคนอ้วนส่วนใหญ่ระดับการผลิตอินซูลินปกติหรือมากกว่าปกติ แต่เซลล์ในร่างกายมีผลดื้อต่ออินซูลิน



ความเชื่อ
8 : ในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นเราจะไม่เป็นเบาหวาน

 

ความจริง : ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงแม้ว่าไม่มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน แต่เราก็สามารถเป็นได้หากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม



ความเชื่อ
9 : ถ้าเป็นเบาหวานจนต้องฉีดอินซูลินแสดงว่าอาการแย่แล้ว

ความจริง : การรักษาโรคเบาหวาน มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน กรณีที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทานแล้วยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย



ความเชื่อ
10 : ถ้าเป็นเบาหวานต้องรักษาด้วยอินซูลิน


ความจริง :
การรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสัดส่วน การออกกำลังกาย และรับประทานยาร่วมด้วย แต่หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์จะมีการใช้อินซูลินร่วมด้วย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เนื่องจากสาเหตุของพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน มีผลให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงต้องรักษาโดยการให้อินซูลินเป็นหลัก

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ

ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด