ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์และเทคนิคการผ่าตัดรักษา เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กหรือการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery: MIS) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่าย ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และโรงพยาบาลวัฒโนสถ ผสานกำลังชูจุดเด่นของการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) เพื่อดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โรคผู้หญิงกับการผ่าตัด
สำหรับผู้หญิงแนวทางการเลือกเทคนิคการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ผู้หญิงกังวล โรคที่พบบ่อยและสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก ได้แก่ เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ ฯลฯ สำหรับ “เนื้องอกในมดลูก” พบบ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 30 – 40 ปี พบได้ 3 – 4 คนใน 10 คน และ 3 – 4 คน มี 30% ที่ต้องรับการผ่าตัดเพื่อรักษา และไม่ทราบสาเหตุในการเกิด สามารถรักษาได้โดยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กทางนรีเวช (Minimally Invasive Surgery)
พญ.หยิงฉี หวัง สูติ – นรีแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก MIS เป็นวิธีการผ่าตัด โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 5 – 10 มม. จำนวน 3 – 5 รู (ขึ้นอยู่กับโรคที่กำลังรักษา) ในบริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์และกล้องขนาดเล็ก พร้อมบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ แต่จะมีความคมชัดมากขึ้นเพราะกล้องมีกำลังขยายสูง สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็ก ๆ ที่มือแพทย์เข้าไม่ถึง ลดการกระทบกระเทือนอวัยวะภายใน จึงช่วยลดผลแทรกซ้อน ทำให้การผ่าตัดสะดวก ลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด ทำให้ระยะพักฟื้นของผู้ป่วยน้อยลง โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
กระดูกและข้อกับการผ่าตัด
นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ การผ่าตัดผ่านกล้องและเวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กล่าวว่า อาการบาดเจ็บบริเวณข้อ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า มักสร้างปัญหารุนแรง ใช้เวลารักษานานหลายเดือน สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ อาจเป็นได้ตั้งแต่บาดเจ็บกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่ นอกจากนี้สาเหตุการบาดเจ็บที่หัวเข่าที่พบบ่อย คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มักเกิดจากการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการปะทะ เกิดการบิดของเข่า หรือเกิดการกระแทกแล้วเอ็นเข่าฉีกขาด ขณะที่การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง จนทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บแบบสะสม จากสถิติกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่า ACL(Anterior Cruciate Ligament) ฉีก เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไป แต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันศัลยแพทย์เลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เพื่อรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก หมอนรองกระดูกเข่า ฯลฯ เนื่องจากได้ผลการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นตัวได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาแพทย์จะพยายามรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองกับการผ่าตัด
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้บ่อยคือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย เกิดการโป่งพองขยายขนาดจนใหญ่กว่าปกติขึ้น (Aortic Aneurysm) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตกทำให้เสียเลือดจำนวนมากกระทันหันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกระดับของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด เทคโนโลยีการผ่าตัดในปัจจุบันทำได้ดีขึ้น
ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองมี 2 รูปแบบ คือการผ่าตัดเปิด และการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านสายสวน (Endovascular Aortic Aneurysm Repair) ซึ่งเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองเนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลต่ำกว่า ผลการรักษาระยะยาวเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิด ที่สำคัญการผ่าตัดแผลเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำ อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งที่คนไข้ควรให้ความสำคัญ ควรงดหรือหยุดสูบบุหรี่ทันที ช่วยลดการแตกของหลอดเลือดได้ถึง 4 เท่า พร้อมกันนี้ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ แต่ไม่ควรออกกำลังหนัก ๆ ที่สำคัญคือกเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที การมาพบแพทย์ตรวจร่างกายแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กยังสามารถรักษาโรคหัวใจทางด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นต้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่กับการผ่าตัด
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนไข้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยการขับถ่ายที่ผิดปกติ มีเลือดปนอุจจาระ ท้องเสียสลับท้องผูก รู้สึกอุจจาระไม่สุด ลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนไป เช่น มีขนาดเล็กลงกว่าปกติ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีการรักษาร่วมกันหลายวิธี คือ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษา เคมีบำบัด โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการวางแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) ศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล
หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้อง
สำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อมารักษาผู้ป่วยได้หลากหลายอวัยวะ ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก คนไข้เจ็บตัวน้อย เสียเลือดน้อย ลดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อย มีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้างอย่างเห็นได้ชัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแผลน้อยกว่า เนื่องจากเนื้อเยื่อได้รับความบาดเจ็บน้อยกว่า ลดการเกิดผังผืด และลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้มาก ซึ่งการผ่าตัดรักษาผ่านกล้องสามารถทำได้ในหลายอวัยวะของระบบร่างกาย เช่น ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้แก่ ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ได้แก่ มดลูก รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ได้แก่ ต่อมลูกหมาก ทางเดินปัสสาวะ ระบบหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิต เช่น หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ