ปัจจุบันกระแสการวิ่งนับว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการวิ่งที่สม่ำเสมอส่งผลให้ผู้วิ่งมีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งตัดสินใจออกวิ่ง หรือแม้กระทั่งผู้ที่วิ่งอยู่แล้วเป็นประจำ แต่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการวิ่งขึ้นไป อาจจะต้องการวิ่งให้ได้ระยะทางที่ยาวขึ้น หรือต้องการใช้เวลาวิ่งให้น้อยลงเพื่อสร้างสถิติใหม่ โดยต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน เพราะการเพิ่มการออกกำลังกายที่หนักขึ้นให้กับร่างกายนั้นอาจส่งผลร้ายอย่างที่เราไม่คาดคิด
ตรวจสุขภาพก่อนวิ่ง
หากนักวิ่งมีภาวะหรือโรคบางอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะโรคหัวใจ เมื่อต้องออกแรงมากกว่าที่เคย นั่นหมายถึง ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ หรือที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Sudden Cardiac Death อันเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างกะทันหันที่พบบ่อยที่สุดในนักกีฬา โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่ยากในการตรวจหาจากการตรวจคัดกรอง หรือตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อนการออกกำลังกายและการวิ่งคือ การตรวจหาความเสี่ยงของโรคหัวใจเป็นหลัก
ในปี 2015 American College of Sports Medicine มีคำแนะนำเรื่องการตรวจสุขภาพก่อนการออกกำลังกาย (Pre – Participation Screening) ว่าควรซักประวัติผู้รับการตรวจสุขภาพดังต่อไปนี้
-
ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกาย
-
มีอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เช่น หน้ามืด เป็นลม เเน่นหน้าอก ใจสั่น หรือมีโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญพลังงาน (Metabolic) และโรคไตหรือไม่
-
ระดับความหนักที่ต้องการออกกำลังกาย
โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประเมินความเสี่ยง เช่น ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหรือมีอาการส่อเสี่ยงของโรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ดังกล่าว รวมทั้งหากต้องการเพิ่มการออกกำลังกายให้หนักขึ้นกว่าเดิม จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เจาะเลือด และทำ Exercise Test ตามประวัติที่บ่งชี้ (เน้นเรื่องโรคหัวใจเป็นหลัก)
เป้าหมายการตรวจสุขภาพก่อนวิ่ง
เป้าหมายของการตรวจสุขภาพก่อนการวิ่ง มีดังนี้
-
ตรวจหาสภาวะต่าง ๆ ที่เป็นข้อห้ามในการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง
-
ตรวจหาสภาวะทางการแพทย์หรือโรค (ที่สามารถรักษาได้) ซึ่งอาจมีผลรบกวนต่อการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง
-
ตรวจหาความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ หรือประวัติการบาดเจ็บที่ผ่านมา รวมไปถึงวิธีการฝึกที่ไม่ถูกต้อง
-
ตรวจเช็กระดับความฟิตของร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการจัดโปรแกรมการฝึกที่ถูกต้อง
-
เก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้อ้างอิงในอนาคต
กระบวนการตรวจสุขภาพ
กระบวนการตรวจสุขภาพจะเริ่มจากการซักประวัติและตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกาย (PAR – Q) สั้น ๆ ประมาณ 6 – 7 ข้อ จากนั้นคนที่มีความเสี่ยงจะต้องตรวจร่างกาย X – Ray เจาะเลือดตรวจแล็บ ตลอดจน Exercise Stress Test ตามข้อบ่งชี้ เพื่อดูภาวะของโรคหัวใจดังที่กล่าวมาข้างต้น หากไม่มีความเสี่ยงใด ๆ จะทำการตรวจวัดระดับความฟิต (Fitness Testing) ซึ่งจะทำให้เห็นถึงสมรรถภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ของนักวิ่ง ไม่ว่าจะเป็น- Inbody วัดส่วนประกอบของร่างกาย กล้ามเนื้อ และไขมัน
- Sit and Reach Test วัดความยืดหยุ่นของร่างกาย
- Balance Test วัดการทรงตัว
- Hand Grip Test วัดแรงบีบมือ
- Jump Test วัดแรงกำลังขาสองข้าง
- Aerobic test (VO2 Max Test) เป้าหมายเพื่อวัดอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายขณะออกกำลังกาย ที่เรียกว่า VO2 max หากใครมีค่านี้สูงก็แสดงว่ามีความฟิตมาก โดยการตรวจมี 2 วิธี
-
YMCA Bicycling Submaximal Test โดยจะให้ผู้เข้าทดสอบปั่นจักรยาน เพิ่มความหนัก และนำค่าอัตราการเต้นของหัวใจมาคำนวณ VO2 max
-
Oxycon Direct Gas Analysis Test เป็นการวัดค่าอัตราแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถวัด VO2 Max ได้โดยตรงและถูกต้องกว่า
ผู้ที่มีหัวใจรักการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ หรือมืออาชีพที่ต้องการจะฝึกวิ่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งระยะทางและเวลา นอกจากสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงจากการวิ่งอย่างสม่ำเสมอแล้ว การตรวจร่างกาย และความพร้อมก่อนการวิ่งก็สำคัญเช่นกัน อย่าลืมเข้ารับการตรวจสุขภาพสำหรับนักวิ่ง