มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

5 นาทีในการอ่าน
มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เรื่องเซ็กส์หรือการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะหากขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการป้องกันและดูแลตนเอง อาจเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และปัญหาสุขภาพภายในที่ตามมา เพราะฉะนั้นการมีเซ็กส์ให้เซฟไม่เพียงช่วยให้สุขทุกครั้งที่มีเซ็กส์ แต่ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้องระวังในปัจจุบัน

แม้จำนวนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเท่าเดิม แต่ด้วยความหลากหลายทางเพศส่งผลให้ไลฟ์สไตล์เรื่องเซ็กส์มีหลายรูปแบบ นำมาซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิด ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย ได้แก่ หนองในเทียม หนองใน ติดเชื้อ HPV ซิฟิลิส และติดเชื้อ HIV


หนองในเทียมเป็นอย่างไร

หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Chlamydia Trachomatis เป็นภาวะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด โดยมีต้นเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 7 – 21 วัน โดยส่วนใหญ่ผู้ชาย 50%มักไม่มีอาการ ผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกใสหรือมูกขาวขุ่นที่ปลายอวัยวะเพศ แสบคันที่ท่อปัสสาวะ หรือเจ็บอัณฑะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะทำให้ท่อนำอสุจิบวมจนถึงเป็นหมันได้ ในผู้หญิงส่วนใหญ่มากกว่า 70% มักไม่มีอาการ ผู้หญิงมีอาการปัสสาวะขัด ตกขาวมากกว่าปกติ เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะนำไปสู่อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดมีบุตรยาก เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมาตอนที่เป็นหนักแล้ว ดังนั้นการตรวจภายในทุกปีจึงมีความสำคัญ และในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการเปลี่ยนคู่นอน ควรตรวจคัดกรองทุก 3 – 6 เดือน เพราะจะได้รู้เท่าทันและรีบรักษา เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดเป็นหมันได้นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อบริเวณทวารหนักดวงตาทำให้เกิดเยื่อบุตาขาวอักเสบ


หนองในเป็นอย่างไร

หนองในเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า N.gonorrhoeae เป็นภาวะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากรองลงมา โดยมีต้นเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 1 – 14 วัน ในผู้ชายมักจะแสดงอาการ 2 – 5 วันภายหลังจากสัมผัส มีอาการเช่นเดียวกับหนองในเทียม คือมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกขุ่นเขียวหรือเหลือง หรือลักษณะคล้ายหนอง แสบคันที่ท่อปัสสาวะ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอักเสบ อัณฑะบวมอักเสบ ส่วนในเพศหญิงระยะเวลาฟักตัวไม่ชัดเจน แต่มีอาการหลังจากสัมผัสเชื้อประมาณ 10 วัน  โดยอาการจะมีปัสสาวะแสบขัด ตกขาวสีเขียวเหลือง แสบคัน เลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงมากกว่า 50% มักไม่มีอาการหรือมีเพียงตกขาวมากขึ้นเล็กน้อยจนกระทั่งนำไปสู่อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อนำไข่อุดตัน นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อบริเวณทวารหนัก ทำให้มีอาการคัน มีหนองไหลหรือเลือดซึมจากทวาร ปวดบิดหน่วงเวลาถ่าย บริเวณดวงตาทำให้เกิดเยื่อบุตาขาวอักเสบ ติดเชื้อบริเวณในคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ คอมีหนองหรือทอนซิลอักเสบมีหนอง หรือปวดข้อได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองทุกปีจึงมีความสำคัญ และในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการเปลี่ยนคู่นอน ควรตรวจคัดกรองทุก 3 – 6  เดือน จะได้รู้เท่าทันและรีบรักษา เพราะการปล่อยทิ้งไว้จะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดเป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้


รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ HPV

การติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ หากติดต่อด้วยสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมักมาด้วยอาการหูดหงอนไก่และไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง แต่หากติดต่อด้วยสายพันธุ์รุนแรงจะไม่มีอาการ แต่จะพัฒนาไปสู่มะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งช่องปากและลำคอ ดังนั้นการตรวจคัดกรองเชื้อ HPV ทุก 1 – 3 ปีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย อีกทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรฉีดวัคซีน HPV ให้ครบ 3 เข็มเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีที่สุด ในกรณีที่เป็นแล้วหากรีบรักษามีโอกาสหายขาดได้


มีเซ็กส์ให้เซฟโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซิฟิลิสสังเกตได้อย่างไร

ซิฟิลิสมักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย Treponema Pallidum ในระยะแรกอาจจะมีแผลเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ และหายเองภายใน 3 – 6 สัปดาห์ ทำให้ชะล่าใจและไม่มาพบแพทย์ แต่แม้แผลจะหายเอง ถ้าไม่มาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อจะยังคงอยู่และแพร่ให้ผู้อื่นได้ อีกทั้งจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2 อาการมีผื่นนูนแดง ไม่เจ็บ สังเกตได้ชัดบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักลด ถ้าไม่ทำการรักษาจะพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง และระยะที่ 3 อาจส่งผลต่อหัวใจ เส้นเลือด ตา ตับ กระดูกและข้อ ประสาทและสมองอันตรายถึงชีวิตได้ ในภาวะที่เป็นการติดจากแม่สู่ลูกมักทำให้ทารกเกิดภาวะซีด พิการแต่กำเนิด เช่น ผิดปกติทางการได้ยิน หรือมีรูปร่างจมูกผิดปกติ หรือมีโครงสร้างฟันผิดปกติ จึงควรตรวจเลือดปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหรือสงสัยเป็นโรค หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอน หรือตั้งครรภ์ หรือตรวจพบว่าติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น และทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ซิฟิลิสนั้นยิ่งพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเป็นซิฟิลิสจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIVด้วย


ติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร

เชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวทีเซลล์ (T-Cell) ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าไม่ทำการรักษาจะนำไปสู่ภาวะ AIDS หรือโรคเอดส์ การติดเชื้อ HIV มักมาจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทางเลือด (ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน) หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ สิ่งที่ต้องรู้คือผู้ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นโรคเอดส์เสมอไป ถ้าทำการรักษา เชื้อ HIV จะอยู่ในร่างกายโดยไม่ก่อโรคและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ปัจจุบันการรักษาเป็นการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ลดการแพร่เชื้อ แนะนำให้ตรวจ HIV ปีละ 1 – 2 ครั้ง หรือหากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอน หรือตั้งครรภ์ หรือตรวจพบว่าเติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เพราะหากรู้ก่อน รักษาก่อน ย่อมช่วยลดความรุนแรงของโรคและสามารถรักษาให้มีภูมิคุ้มกันใกล้เคียงหรือเท่ากับผู้ไม่ติดเชื้อและลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้


ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร

วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่

  • เลือกให้เป็น เลี่ยงให้ดี เลือกคู่นอน ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เลือกสถานที่เที่ยวให้เหมาะสม เลี่ยงกิจกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยง อย่างการมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มหรือเซ็กส์หมู่
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากป้องกันการติดเชื้อ HIV ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกโรค แต่ต้องเลือกที่มีคุณภาพผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • กินยาเซฟเซ็กส์ หากเผลอมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับยาป้องกันได้ โดยยา PrEP ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
  • เจาะเลือดทุกปี เพื่อตรวจเช็กสุขภาพและตรวจหาเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากพบปัญหารีบดูแลรักษาทันที
  • ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ บางคนแพ้ถุงยางอนามัย บางคนพลาดพลั้งมีอะไรกับคนแปลกหน้า บางคนไม่ถึงจุดสุดยอด และปัญหาเรื่องเซ็กส์อีกมากมาย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลตนเองอย่างเหมาะสมและช่วยให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

พญ.ปวรรัตน์ ตติรังสรรค์สุข อายุรแพทย์ คลินิกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

นพ.สุรชาติ ช่วยชบ อายุรแพทย์ คลินิกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมดูแลรักษาทุกปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อป้องกันดูแลและรักษาสุขภาพทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางเพศแบบห่างไกลโรค


ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. สุรชาติ ช่วยชบ

อายุรศาสตร์

อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
นพ. สุรชาติ ช่วยชบ

อายุรศาสตร์

อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
พญ. ปวรรัตน์ ตติรังสรรค์สุข

อายุรศาสตร์

พญ. ปวรรัตน์ ตติรังสรรค์สุข

อายุรศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกโรคติดเชื้อ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน 06.00 - 20.00 น.