ถาม - ตอบฝีดาษลิง รู้ระวังไม่ตื่นตระหนก

3 นาทีในการอ่าน
ถาม - ตอบฝีดาษลิง รู้ระวังไม่ตื่นตระหนก

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่หลายคนให้ความสนใจและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จึงมีหลายคำถามคำตอบที่สงสัย การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือแบบไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

 

ถาม : ฝีดาษลิงคืออะไร

ตอบ : โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ แต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด


ถาม : ฝีดาษลิงติดต่อได้อย่างไร

ตอบ : โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้จาก

  • สัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้จากสัตว์กัดแทะทุกชนิด โดยติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
  • คนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย 

ถาม : อาการฝีดาษลิงเป็นอย่างไร

ตอบ : โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 – 20 วันหากสัมผัสเชื้อมากจะแสดงอาการได้เร็ว แต่หากสัมผัสเชื้อไม่มากอาการแสดงจะอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มแรกที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วันจะมีผื่นจำนวนมากขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว ใบหน้า โดยลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ ตุ่มหนองที่มีสะเก็ดคลุมแล้วแตกได้ ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต


ถาม - ตอบฝีดาษลิง รู้ระวังไม่ตื่นตระหนก

ถาม : แพทย์ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร

ตอบ : แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้พร้อมกับตุ่มน้ำใสคือสัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง โดยจะทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน


ถาม : สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเป็นฝีดาษลิง

ตอบ : เมื่อเป็นฝีดาษลิงสิ่งที่ต้องระวังคือ การแยกตัวออกจากบุคคลอื่นทันที แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ ห้ามสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด ที่สำคัญคือห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพื่อป้องกันแผลเป็นที่ทำให้เสียความมั่นใจได้


ถาม : ฝีดาษลิงเป็นแล้วหายได้เองไหม

ตอบ : ฝีดาษลิงเมื่อเป็นแล้วสามารถหายจากโรคเองได้ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จึงหายจากโรค และมียาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิงที่สามารถรักษาโรคได้


ถาม : ป้องกันฝีดาษลิงได้อย่างไร

ตอบ : การป้องกันฝีดาษลิงทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง 


ถาม : สัตว์ที่เป็นพาหะฝีดาษลิงต้องระมัดระวัง

ตอบ : สัตว์กัดแทะทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะลิงเท่านั้น สัตว์ตระกูลหนูต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ รวมถึงกระรอก กระต่ายที่ล้วนแต่เป็นพาหะไวรัสนี้ได้


ถาม : มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือไม่

ตอบ : การฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ด้วย ดังนั้นผู้สูงวัยที่เคยฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจะยังคงมีภูมิคุ้มกันป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เกิดหลังปี พ.. 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาก่อน ซึ่งขณะนี้วัคซีนฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษที่มีอยู่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ผลิตโดยบริษัทของเดนมาร์ก ซึ่งผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ Modified Vaccinia Ankara Bavarian Nordic ที่ปริมาณของวัคซีนยังมีไม่มากและผลข้างเคียงยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากขณะนี้โรคฝีดาษลิงยังไม่ถือเป็นการระบาดและยังไม่มีวัคซีนอยู่ในประเทศไทย


ถาม : การปลูกฝีในอดีตช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้หรือไม่

ตอบ : ผู้ที่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในอดีตมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ เพียงแต่ประเทศไทยเลิกปลูกฝีไปตั้งแต่ปี พ.. 2517 เนื่องจากฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษหมดไปจากโลกในขณะนั้น ดังนั้นการสังเกตว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝีแล้วหรือไม่สามารถสังเกตได้จากแผลเป็นบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผลแบนเรียบหรือมีหลุมลงไปเล็กน้อย ประกอบกับต้องสังเกตปีเกิด นั่นคือหากเกิดหลังปี พ.. 2523 ยังไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแน่นอน ส่วนในผู้ที่เกิดหลังปี พ.. 2517 แต่ก่อนปี พ.. 2523 นับเป็นช่วงก้ำกึ่งต้องตรวจดูแผลอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะยืนยันได้ว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด