เจ็บหน้าแข้งกับการวิ่งมาราธอน (Shin Splint Syndrome)

2 นาทีในการอ่าน
เจ็บหน้าแข้งกับการวิ่งมาราธอน (Shin Splint Syndrome)

อาการเจ็บหน้าแข้งกับการวิ่งมาราธอน (Shin Splint Syndrome) เป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มนักวิ่ง ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดอาการได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. จากอุบัติเหตุหรือสิ่งกระทบจากภายนอก เช่น แผลฟกช้ำ กล้ามเนื้อฉีก หรือกระดูกหัก ผู้บาดเจ็บมักจำเหตุการณ์ได้ชัดเจน รู้สาเหตุของการเกิดอาการ ทำให้การรักษาไม่ซับซ้อน เพราะสามารถรักษาตามสาเหตุและอาการเป็นหลัก หากรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายเป็นปกติได้
  1. จากการใช้งานหรือการฝึกที่หักโหมและเร่งรัดจนเกินไป จากโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จากการใช้อุปกรณ์การวิ่งที่ไม่เหมาะสม ในกลุ่มนี้มักมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บหลังจากใช้งานไปสักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อพักแล้วอาการจะดีขึ้น แต่พอกลับมาวิ่งก็กลับมาเจ็บอีก ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีอาการที่พบได้บ่อยและน่าสนใจ ได้แก่ 

  • Shin Splint Syndrome เจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง คือ อาการเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง อาการเจ็บจะเกิดที่สันหน้าแข้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าแข้งด้านใน ส่วนใหญ่จะพบบริเวณตอนล่างของกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ Soleus และ Tibialis Posterior ซึ่งควบคุมการบิดข้อเท้าเข้าใน (Inversion) และจิกปลายเท้าลง (Plantar Flexion)

  • สาเหตุเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง สาเหตุของอาการเกิดจากการฝึกที่หักโหมและเร่งรัด ทำให้เกิดการใช้งานที่มากเกินไปจนร่างกายทนไม่ได้ คือ เมื่อเกิดการกระแทกหรือใช้งานกล้ามเนื้อดังกล่าวซ้ำ ๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น มักพบใน
  1. คนที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ ๆ
  2. คนที่เร่งการซ้อมมากเกินไป
  3. การวิ่งบนพื้นแข็งหรือใส่รองเท้าที่พื้นรองรับเท้าแข็ง
  4. คนที่ชอบวิ่งเขย่งปลายเท้า หรือยกส้นเท้าให้ลอยตลอดเวลา
  5. คนที่มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น เท้าแบน (Flat Foot) เท้าคว่ำบิดออกนอก (Excessive or Over of Pronation)

  • อาการเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง อาการเจ็บปวดตามแนวสันหน้าแข้งด้านใน จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นแบบเป็นค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิดขึ้นขณะวิ่งหรือหลังจากหยุดพักแล้วก็ได้ เมื่อกดจะมีอาการเจ็บเป็นบริเวณกว้างตามแนวของกระดูกหน้าแข้ง แต่ไม่มีอาการชา เมื่อมีอาการควรหยุดพักรักษา ไม่ควรฝืนวิ่ง หรือฝึกแบบเดิมอีกต่อไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า เช่น กระดูกร้าว ตามมาได้

  • การรักษาเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง การรักษาเบื้องต้น คือ
  1. การพัก
  2. การประคบเย็น
  3. การใช้ยาต้านการอักเสบชนิดกิน
  4. การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการอักเสบ


หากโครงสร้างเท้าหรือขาผิดปกติควรเลือกเปลี่ยนรองเท้าเป็นแบบที่เหมาะสมกับโครงสร้างเท้าของตนเอง หรืออาจใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่งร่วมด้วย เมื่ออาการเจ็บหายแล้ว ควรหันมาบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและยืดหยุ่น โดยเริ่มฝึกด้วยการออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน Elliptical Machine หรือวิ่งในสระน้ำก่อน หากไม่เกิดอาการเจ็บ แล้วจึงค่อยใส่โปรแกรมการวิ่งเข้าไป โดยค่อย ๆ เพิ่มระยะทางและความเร็วทีละน้อย แนะนำให้ลองวิ่งบนพื้นนุ่ม ๆ เช่น สนามหญ้า พื้นยาง หรือ Treadmill ก่อน หากไม่มีอาการเจ็บ จึงค่อยกลับไปวิ่งบนพื้นที่เราคุ้นเคย

การตัดสินใจว่าจะสามารถกลับไปวิ่งระยะไกลได้เมื่อใดนั้นต้องดูจากอาการ หากอาการเจ็บยังคงเรื้อรัง พักแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเจ็บมากขึ้นถึงขั้นลงน้ำหนักไม่ได้ อาจเป็นเพราะอาการของกระดูกร้าวแบบสะสม (Stress Fracture) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาขั้นต่อไป


นอกจากนี้หากวิ่งแล้วมีอาการชาที่ขาหรือเท้า เมื่อขยับนิ้วเท้าแล้วปวดขาอย่างรุนแรง อาจเป็นอาการของเส้นประสาทขาถูกกดทับ เนื่องจากความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้จนกล้ามเนื้อและเส้นประสาทขาดเลือด อาจต้องสูญเสียอวัยวะ และไม่สามารถวิ่งได้อีกต่อไป

photo

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. กิตติศักดิ์ เชื้อพูล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

นพ. กิตติศักดิ์ เชื้อพูล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด