ลมพิษเรื้อรัง อย่ามองข้ามจนรุนแรง

2 นาทีในการอ่าน
ลมพิษเรื้อรัง อย่ามองข้ามจนรุนแรง

โรคลมพิษแม้ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโรคลมพิษเรื้อรังที่สร้างความรำคาญจากอาการคันต่อเนื่องในระยะยาว จนรบกวนคุณภาพชีวิตตลอดจนการนอน การรักษาโดยเร็วและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นโดยเร็ว

รู้จักลมพิษเรื้อรัง

โรคลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) จะมีอาการผื่นลมพิษแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเป็นต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป หากผื่นอยู่นานอาจทิ้งรอยดำและมีจุดเลือดออกในผื่นได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สบายตัว รำคาญใจ เสียบุคลิกภาพและความมั่นใจ อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับได้ แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลเสียในระยะยาว


ตัวการลมพิษเรื้อรัง

ลมพิษเรื้อรังมีปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากมาย ได้แก่

  • อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด ของหมักดอง ฯลฯ
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ฯลฯ
  • ยาบางชนิดที่ร่างกายเกิดการแพ้
  • โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ทั้งไฮเปอร์ไทรอยด์และไฮโปไทรอยด์ ฯลฯ
  • การแพ้สารสัมผัส เช่น ขนสัตว์ ถุงมือยาง ไรฝุ่น พิษแมลง ฯลฯ
  • การกระตุ้นทางกายภาพ เช่น ความร้อน ความเย็น แสงแดด ฯลฯ
  • เนื้องอกและมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเส้นเลือดอักเสบ ฯลฯ

อาการลมพิษเรื้อรัง

ผื่นลมพิษเรื้อรังมีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่มีลักษณะปื้นนูนแดงคันไม่มีขุยขอบเขตชัดเจนผื่นกระจายอย่างรวดเร็วมีทั้งวงกลมรีวงแหวนทั้งแขนขาใบหน้ารอบดวงตาปากผู้ป่วยบางคนอาจปากบวมและตาบวมร่วมด้วยนอกจากนี้ความเครียดมีผลกับการเห่อของโรคได้ 


ตรวจวินิจฉัยลมพิษเรื้อรัง

  • ซักประวัติเกี่ยวกับผื่น ระยะเวลาเกิดผื่น ปัจจัยกระตุ้นผื่น
  • ตรวจร่างกายอย่างละเอียด พิจารณาลักษณะผื่น
  • ตรวจเลือด
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำของแพทย์ 

ลมพิษเรื้อรัง อย่ามองข้ามจนรุนแรง
รักษาลมพิษเรื้อรัง

การรักษาลมพิษเรื้อรังเป็นไปตามสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นเป็นสำคัญเพื่อลดผื่นที่เกิดขึ้น โดยเป็นการรักษาด้วยยา ได้แก่

  • ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ช่วยรักษาและควบคุมอาการของโรค มีให้เลือกมากมายหลายชนิดและมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน รวมถึงผู้ป่วยต้องมีการปรับยาเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมในระยะยาว และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 
  • ยาในกลุ่มอื่น ในกรณีที่ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังมีอาการหนัก ได้รับยาฮีสตามีนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการพิจารณาให้ยากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยับยั้งการสร้างและหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด

ดูแลให้ถูกวิธีเมื่อป่วยลมพิษเรื้อรัง

  • เลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นลมพิษกำเริบ
  • กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • หากกินยาแล้วมีอาการง่วงซึมจนกระทบการทำงานและการใช้ชีวิตควรแจ้งแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา
  • ห้ามหยุดกินยาด้วยตัวเองต้องแพทย์สั่งเท่านั้น
  • ไม่แกะเกาที่ผิวหนัง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
  • ทำใจให้สบายไม่เครียด

ลมพิษเรื้อรังอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนานกว่าจะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยจึงควรมีวินัยในการกินยาและพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ที่สำคัญดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด

ชั้น 3 อาคาร A โรงพยาบาลกรุงเทพ

วันจันทร์-พฤหัส และอาทิตย์ เวลา 8.00-17.00 น.

วันศุกร์-เสาร์  เวลา 8.00-16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด