ไส้เลื่อนนักกีฬา รู้ระวังรีบรักษาก่อนไม่ฟิต

3 นาทีในการอ่าน
ไส้เลื่อนนักกีฬา รู้ระวังรีบรักษาก่อนไม่ฟิต

ไส้เลื่อนเป็นปัญหากวนใจที่พบได้ในนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยไส้เลื่อนนักกีฬานั้นมีความแตกต่างจากไส้เลื่อนขาหนีบ เพราะฉะนั้นการรู้ทันเพื่อให้รับมือได้อย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

รู้จักโรคไส้เลื่อนนักกีฬา 

Sports Hernia หรือที่บางคนเรียกว่า โรคไส้เลื่อนนักกีฬา หรือไส้เลื่อนฮ็อกกี้ เป็นชื่อเรียกอาการคล้ายไส้เลื่อนที่ไม่มีการเลื่อนของลำไส้ออกนอกช่องท้อง พบมากในกลุ่มนักกีฬาที่มีการวิ่งเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว หรือมีการเคลื่อนไหวบิดหมุนบริเวณข้อต่อสะโพกอย่างรุนแรง เช่น ฟุตบอล วิ่ง กระโดดสูง เบสบอล ฟันดาบ ฮ็อกกี้น้ำแข็ง มวยปล้ำ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อขาหนีบ (Adductor) ช่องท้องส่วนล่างและอัณฑะของนักกีฬา ซึ่งมักพบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง


ตัวการไส้เลื่อนนักกีฬา

สาเหตุของโรคไส้เลื่อนนักกีฬาเกิดจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อในช่องท้องส่วนล่างบริเวณขาหนีบและความไม่ยืดหยุ่นของข้อต่อสะโพก มีการใช้งานที่หนักเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบ หรือเกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อขาหนีบที่มีแรงตึงมากกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องด้านล่าง หรือการฉีกขาดของเส้นประสาทบริเวณขาหนีบ ทำให้ขณะวิ่งหรือเตะบอลมีอาการเจ็บแบบเสียด ๆ บริเวณท้องน้อยร้าวลงไปที่ต้นขา ส่วนใหญ่เกิดขณะออกกำลังกายหรือบางครั้งเกิดได้แม้แค่ไอหรือจามโดยไม่มีการเลื่อนของลำไส้ 


อาการไส้เลื่อนนักกีฬา

ลักษณะอาการไส้เลื่อนนักกีฬา (Sports Hernia) มีความคล้ายกับไส้เลื่อนขาหนีบ คือมักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เช่น วิ่งหรือเตะบอล ดังนี้ 

ปวดท้องน้อยส่วนล่าง 

ปวดบริเวณขาหนีบ 

ปวดอัณฑะ


ไส้เลื่อนนักกีฬา รู้ระวังรีบรักษาก่อนไม่ฟิต

ไส้เลื่อนขาหนีบ VS ไส้เลื่อนนักกีฬา

ความแตกต่างของอาการไส้เลื่อนขาหนีบและไส้เลื่อนนักกีฬา (Sports Hernia) มีดังนี้

ไส้เลื่อนขาหนีบ

ไส้เลื่อนนักกีฬา 

ปวดจุกขาหนีบสัมพันธ์กับก้อนขาหนีบ

  • ขณะลุกขึ้นหลังจากนอนราบ
  • ขณะลุกยืนหลังจากนั่ง
  • ขณะยืนขาเดียว
  • ขณะไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ

เจ็บแบบเสียด ๆ บริเวณขาหนีบ อาจร้าวลงท้องน้อยหรือต้นขา

  • ขณะก้าวขาหรือออกแรง
  • ขณะออกกำลังกายยกตัวขึ้นซิตอัพ
  • ขณะจามแรง ๆ

อาการเป็น ๆ หาย ๆ 

ปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว

มีก้อนเข้าออกได้บริเวณขาหนีบ

ไม่มีก้อนเข้าออกได้บริเวณขาหนีบ


ตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อนนักกีฬา

เนื่องจากลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนนักกีฬามีความคล้ายกับผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนขาหนีบและทับซ้อนกับโรค Osteitis Pubis คือ การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนเอว ข้อต่อสะโพก ช่องท้อง และระบบทางเดินปัสสาวะ การตรวจวินิจฉัยจึงต้องซักประวัติอาการของผู้ป่วยทางคลินิก การตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจ MRI เพื่อตรวจแยกรอยโรคที่ต่างกัน นอกจากนี้นักกีฬาหลายคนอาจมีกล้ามเนื้อขาหนีบอ่อนแรงหรือเกิดการฉีกขาด และอาจส่งผลให้ Sports Hernia พัฒนาเป็นไส้เลื่อนในช่องท้องได้หากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอ่อนแอลงอีก 


รักษาไส้เลื่อนนักกีฬา

วิธีการรักษาไส้เลื่อนนักกีฬา (Sports Hernia) ประกอบไปด้วย

การรักษาแบบประคับประคอง

โดยปกติอาการปวดจะดีขึ้นเมื่อพักการใช้งานของกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบหรือหยุดกิจกรรม การประคบเย็นหรือการประคบร้อน การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ทานยาแก้ปวดลดบวม การฉีดยา การกายภาพบำบัด การเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยการบริหารกล้ามเนื้อขาหนีบให้แข็งแรง การฝึก Hip Adduction หรือการนอนในท่าคว่ำโดยให้สะโพกด้านที่มีอาการงดและหมุนออกด้านนอกสามารถรักษาได้ในบางคน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว 

การผ่าตัด

หากผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนนักกีฬาทำการรักษาแบบประคับประคองแล้วยังไม่ดีขึ้นใน 6 สัปดาห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนักกีฬาอาชีพ การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดโดยเฉพาะในรายที่มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทบริเวณขาหนีบ แพทย์อาจฉีดยารักษา หรือผ่าตัดซ่อมแซมเส้นประสาทด้วยเทคนิค Inguinal Neurectomy หรือผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กในรายที่มีการหย่อนของกล้ามเนื้อขาหนีบ (Laparoscopic Hernioplasty) ด้วยการเสริมความแข็งแรงของผนังช่องท้อง โดยการเสริมตาข่าย Mesh Repair แผ่นสารสังเคราะห์ เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง ร่วมกับการตัดกล้ามเนื้อขาหนีบที่ไม่แข็งแรงออกในกรณีที่มีสาเหตุจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อขาหนีบ

หลังผ่าตัดจะมีอาการตึงแผลบริเวณขาหนีบเล็กน้อย จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 – 2 วันจึงจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัดต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแรงดันในช่องท้องสูงในช่วง 4 สัปดาห์แรก เช่น ห้ามยกของหนักหรือออกกำลังกายหักโหม หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะมากเกินไป และหลีกเลี่ยงการบิดและหมุนอย่างกะทันหัน เป็นต้น

อย่าชะล่าใจกับอาการไส้เลื่อนนักกีฬา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจอักเสบเรื้อรังจนรุนแรงได้ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกต้องทันที


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด